ตองลาด

Actinodaphne henryi Gamble

ชื่ออื่น ๆ
ตาถีบทอง (นครราชสีมา); แสนตะกละใหญ่ (สุโขทัย)
ไม้ต้น ตายอดมีเกล็ดหุ้ม รูปขอบขนาน ใบเดี่ยว เรียงเวียนชิดกันคล้ายเป็นวงรอบ มี ๔-๖ ใบ รูปใบหอกแกมรูปรี ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามกิ่งระหว่างกลุ่มใบ ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่มมีดอกประมาณ ๕ ดอก ดอกสีออกเหลืองแกมสีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม ผลแก่สีแดงถึงสีแดงเข้ม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตองลาดเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๐ ม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งหนา เกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่ม ส่วนยอดอ่อนมีขนสั้นหนานุ่มสีออกเหลือง เปลือกเป็นร่อง สีออกเทาหรือสีออกน้ำตาล เปลือกในสีออกเหลือง ตายอดมีเกล็ดหุ้ม รูปขอบขนาน ยาว ๒-๓.๕ ซม. ปลายแหลม เกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีขนสั้นหนานุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนชิดกันคล้ายเป็นวงรอบ มี ๔-๖ ใบ ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๕.๕-๑๐ ซม. ยาว ๒๒-๔๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบเรียว อาจเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เมื่ออ่อนมีขนสั้นนุ่มสีออกเหลืองหนาแน่น เมื่อแก่เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีนวลสีออกเทาแกมสีเงิน เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เกลี้ยงถึงมีขนสั้นประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น นูนทั้ง ๒ ด้าน โค้งและเชื่อมกันเป็นวงใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ค่อนข้างเห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. อวบหนา มีขนประปรายถึงขนสั้นนุ่มหนาแน่น

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงประกอบ ออกตามกิ่งระหว่างกลุ่มใบ ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม มีดอกประมาณ ๕ ดอก ก้านช่อย่อยยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม วงใบประดับซ้อนกัน ร่วงง่าย เห็นรอยแผลที่โคนช่อย่อย ดอกสีออกเหลืองแกมสีเขียวอ่อนเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๑ ซม. มีกลิ่นหอม กลีบรวม ๖ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยคว่ำ ปลายแยกเป็น ๖ แฉก รูปรี กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ด้านนอกมีขนกำมะหยี่ ด้านในเกลี้ยง มีเส้นกลีบ ๓ เส้น ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. มีขนสั้นนุ่มสีออกเหลืองหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๙ เกสร เรียงเป็น ๓ ชั้น ชั้นละ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูเล็กเรียว ยาวประมาณ ๓.๕ มม. เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูของชั้นนอกและชั้นกลางไม่มีต่อมส่วนชั้นในมีต่อมกลมที่โคนทั้ง ๒ ด้าน อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑.๓-๑.๕ มม. ปลายแหลม แตกแบบมีฝาเปิด ติดที่ฐาน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง หันเข้า เกสรเพศเมียเป็นหมัน มีขนาดเล็กหรือไม่มี ดอกเพศเมีย ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ มม. ขนสั้นนุ่มสีออกเหลืองหนาแน่น เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี ๙ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบหนา ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปโล่

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลอ่อนมีสีออกเขียว มีจุดสีขาว ผลแก่สีแดงถึงสีแดงเข้ม โคนผลมีกลีบรวมติดทนและขยายใหญ่เป็นรูปถ้วยตื้น ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน ก้านผลเล็กเรียว ยาว ๕-๘ มม. มีขนสั้นนุ่ม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตองลาดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่จีน

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองลาด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Actinodaphne henryi Gamble
ชื่อสกุล
Actinodaphne
คำระบุชนิด
henryi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gamble, James Sykes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1847-1925)
ชื่ออื่น ๆ
ตาถีบทอง (นครราชสีมา); แสนตะกละใหญ่ (สุโขทัย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต