ตองผ้า

Sumbaviopsis albicans (Blume) J. J. Sm.

ชื่ออื่น ๆ
กระดาษ (ลำปาง); ครกตะกั่ว (พิษณุโลก); ตะกัว, สะกัว (นครราชสีมา)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรี ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ออกที่ปลายยอดหรือกึ่งซอกใบ ช่อห้อยดอกสีเขียวแกมสีน้ำตาล ไม่มีจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ผลแบบผลแห้งแตก สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมดำ รูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๓ พู เมล็ดสีดำรูปทรงรีกว้างหรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดบาง

ตองผ้าเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๗ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๓.๒-๑๙ ซม. ยาว ๖.๘-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนแบบก้นปิด ขอบค่อนข้างเรียบถึงหยักซี่ฟันมีต่อมตามปลายหยัก หรือตามขอบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีค่อนข้างขาวหนาแน่น มีต่อมกลมสีเหลืองเข้มใกล้โคนและตามขอบใกล้เส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ค่อนข้างโค้งและเชื่อมกันใกล้ขอบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดก้านใบยาว ๑.๒-๑๑.๒ ซม. หูใบรูปค่อนข้างรี กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม.ร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ออกที่ปลายยอดหรือกึ่งซอกใบ ช่อห้อย ดอกสีเขียวแกมสีน้ำตาล ไม่มีจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้คล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ยาวประมาณ ๑๖ ซม. ดอกเพศผู้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒.๒ มม. มีขนค่อนข้างหยาบแข็ง กลีบเลี้ยง ๓-๕ กลีบ สีน้ำตาล เรียงจดกันในดอกตูม รูปไข่ กว้าง ๒-๓.๒ มม. ยาว ๔.๒-๕.๘ มม. กลีบดอก ๔-๕ กลีบ สีเขียว รูปไข่ กว้าง ๑.๗-๒.๕ มม. ยาว ๑.๗-๒.๘ มม. ฐานดอกนูน สูงได้ถึง ๑.๔ มม. เกสรเพศผู้ประมาณ ๗๕ เกสร แยกกัน ติดอยู่บนฐานดอกนูน ก้านชูอับเรณูสีขาว ยาว ๒.๕-๒.๘ มม. อับเรณูสีขาวถึงสีเหลือง มี ๒ ช่อง กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง ๓๘ ซม. ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๓ มม. ก้านดอกยาว ๒.๘-๓.๕ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๔.๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ พบน้อยมี ๖ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม รูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๒.๓-๔ มม. ไม่มีกลีบดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลมกว้าง ๒.๗-๓.๕ มม. ยาว ๒.๗-๔.๕ มม. มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๘-๑.๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียยาวได้ถึง ๓ มม. แยกเป็น ๓ แฉก กางออก

 ผลแบบผลแห้งแตก สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอมดำรูปทรงรีหรือรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๔-๓ ซม. ยาว ๒.๑-๓.๖ ซม. มี ๓ พู ด้านนอกมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อนหนานุ่ม เมล็ดสีดำ รูปทรงรีกว้างหรือรูปทรงค่อนข้างกลมกว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดบาง

 ตองผ้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบ ตามชายป่าที่โล่ง สันเขา ริมน้ำ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา เวียดนามและภูมิภาคมาเลเซียประโยชน์ เมล็ดกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองผ้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Sumbaviopsis albicans (Blume) J. J. Sm.
ชื่อสกุล
Sumbaviopsis
คำระบุชนิด
albicans
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
- Smit, Johannes Jacobus
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Smit, Johannes Jacobus (1867-1947)
ชื่ออื่น ๆ
กระดาษ (ลำปาง); ครกตะกั่ว (พิษณุโลก); ตะกัว, สะกัว (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต