ตอกภูหลวง

Callicarpa phuluangensis Leerat. et A. J. Paton

ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนรูปดาว ขนมีกิ่ง และขนรูปตัววาย สีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาล มีต่อมสีเหลืองหนาแน่นตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง เส้นกลางใบด้านบน ก้านใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก และรังไข่ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก รูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปรีแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกเหนือซอกใบ ดอกสีชมพูอมม่วงหรือสีชมพู รังไข่มีขนสีน้ำตาลรูปดาวประปรายและต่อมสีเหลืองที่ส่วนปลาย ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกผลค่อนข้างเกลี้ยงหรือเกลี้ยง มีต่อมสีเหลืองประปราย เมล็ดขนาดเล็ก

ตอกภูหลวงเป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๒ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนรูปดาว ขนมีกิ่ง และขนรูปตัววาย สีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาล มีต่อมสีเหลืองหนาแน่นตามกิ่งอ่อน กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง มีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปใบหอก รูปรีแกมรูปใบหอก หรือรูปรีแคบ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายยาวคล้ายหางหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนรูปดาว ขนมีกิ่ง และขนรูปตัววายสีน้ำตาลประปรายตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าและมีต่อมสีเหลืองกระจายทั่วไป เส้นกลางใบค่อนข้างแบนทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม. มีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกเหนือซอกใบ กว้าง ๑-๒.๘ ซม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. ก้านช่อดอกสีม่วงอมน้ำตาล ยาว ๑.๕-๒ ซม. ใบประดับรูปคล้ายใบ ก้านใบประดับสั้นกว่าก้านช่อดอก ใบประดับย่อยรูปแถบถึงรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๕ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๐.๘-๑.๒ มม. ดอกสีชมพูอมม่วงหรือสีชมพู กลีบเลี้ยงสีม่วงอมเขียว ยาว ๐.๘-๑.๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๐.๗-๑.๒ มม. ปลายหยักแหลมเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลรูปดาวและต่อมสีเหลืองประปรายด้านในเกลี้ยงหรือมีต่อมสีเหลืองประปราย กลีบดอกยาว ๒.๓-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๗-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม ปลายมน ขอบมีขนครุย ด้านนอกมีขนรูปดาวและขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล มีต่อมสีเหลืองประปราย ด้านในเกลี้ยงหรือมีต่อมสีเหลืองประปราย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูสีขาวอมชมพู ยาวพ้นกลีบดอก อับเรณูสีเหลือง รูปรีกว้าง แตกตามยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาลรูปดาวประปรายและต่อมสีเหลืองที่ส่วนปลาย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างหนา แยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๑.๘-๒.๕ มม. ผลอ่อนสีเขียว ผิวค่อนข้างเกลี้ยงหรือเกลี้ยง มีต่อมสีเหลืองประปราย มีกลีบเลี้ยงติดทนที่โคนผล ยาว ๐.๘-๑.๕ มม. เมล็ดขนาดเล็ก

 ตอกภูหลวงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตอกภูหลวง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Callicarpa phuluangensis Leerat. et A. J. Paton
ชื่อสกุล
Callicarpa
คำระบุชนิด
phuluangensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Leeratiwong, Charan
- Paton, Alan James
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Leeratiwong, Charan (fl. 2003)
- Paton, Alan James (1969-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง