ตรุษลิง

Congea griffithiana Munir

ชื่ออื่น ๆ
ชิงช้า, ตรุษหน้าลิง (นครศรีธรรมราช); ท้องปริง (ใต้); พญาจอมปลวก (ยะลา); ย่านพวงประดิษฐ์ (ตรัง); สุด
ไม้เลื้อยขนาดใหญ่ กิ่งออกตรงข้าม รูปทรงกระบอกหรือเกือบเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อย่อยมี ๕ ดอก ออกรวมกันเป็นกระจุก มีใบประดับรองรับ ๔ ใบ เห็นเด่นชัด ดอกสีขาวอมม่วง กลีบดอกรูปปากเปิด ด้านในมีขนเป็นวงบริเวณปากหลอด ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตรุษลิงเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ เลื้อยขึ้นบนเรือนยอดไม้ใหญ่ ยาวได้ถึง ๓๐ ม. กิ่งออกตรงข้าม รูปทรงกระบอกหรือเกือบเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนมน มนกลม หรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนสากเล็กน้อยด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น บริเวณค่อนไปทางปลายใบมีปลายเส้นแขนงใบจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๔๕ ซม. ก้านและแกนช่อดอกมีขนสั้นนุ่มสีเทา ช่อดอกย่อยมีจำนวนมากเรียงตลอดช่อ แต่ละช่อย่อยมี ๕ ดอก ออกรวมกันเป็นกระจุก มีใบประดับรองรับ ๔ ใบ เห็นเด่นชัด โคนแยกเป็นอิสระหรือเชื่อมกันเพียงเล็กน้อย รูปช้อน รูปรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๐.๗-๑.๔ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมนกลมหรือแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ ด้านบนสีชมพูอมม่วง ตรงกลางมีเส้นสีม่วงแดงตามยาว ด้านล่างสีม่วงอมเขียว เห็นเส้นร่างแหชัดเจน ก้านดอกสั้นมากหรือไม่มีก้านดอก ดอกสีขาวอมม่วง กลีบเลี้ยงยาว ๔-๕ มม.


โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๔-๕ มม. โผล่พ้นหลอดกลีบเลี้ยงเล็กน้อย โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกแกมรูประฆัง ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนเป็นวงบริเวณปากหลอด ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับ ปลายมนกลม โคนมีแต้มสีม่วง แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก ขนาดเล็กกว่าแฉกซีกบน เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสีม่วงแดง เรียวยาวคล้ายเส้นด้ายโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอก อับเรณูสีส้ม รูปค่อนข้างกลมรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับ เกลี้ยง ปลายมีต่อมกลม ๆ มี ๒ ช่อง ไม่สมบูรณ์ แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตรุษลิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามสันเขาหรือริมลำธารในป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและคาบสมุทรมาเลเซีย

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตรุษลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Congea griffithiana Munir
ชื่อสกุล
Congea
คำระบุชนิด
griffithiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Munir, Ahmad Abid
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1936-)
ชื่ออื่น ๆ
ชิงช้า, ตรุษหน้าลิง (นครศรีธรรมราช); ท้องปริง (ใต้); พญาจอมปลวก (ยะลา); ย่านพวงประดิษฐ์ (ตรัง); สุด
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี