ตรียัมปวาย

Trichotosia pulvinata (Lindl.) Kraenzl.

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางด้านข้าง ลำต้นขึ้นชิดกันเป็นกอขนาดใหญ่ เอียงหรือห้อยลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก แผ่นใบหนาและอวบน้ำ มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบตั้งแต่กลางลำต้นถึงใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมชมพู ผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงข้างมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตรียัมปวายเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางด้านข้าง รากสีน้ำตาลแดง ออกเป็นกระจุกที่โคนต้นลำต้นขึ้นชิดกันเป็นกอขนาดใหญ่ เอียงหรือห้อยลง สีเขียวเข้ม รูปทรงกระบอก เรียวยาวและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. ยาว ๑๐-๖๐ ซม. ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ผิวเรียบ มีกาบใบสีน้ำตาลแดงหุ้มตามปล้องตั้งแต่โคนถึงเกือบกลางลำต้น

 ใบเดี่ยว มีจำนวนมาก ออกตลอดต้นยกเว้นบริเวณโคนต้น เรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๔.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแผ่เป็นกาบหุ้มรอบลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและอวบน้ำ มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบขนานจากโคนใบสู่ปลายใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบตั้งแต่กลางลำต้นถึงใกล้ปลายยอด ห้อยลง ทั้งช่อยาว ๑-๓ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๔ ดอก ก้านช่อดอกสีเขียว ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. แกนช่อดอกสีเขียว ยาว ๔-๘ มม. ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๐.๖-๑ ซม. ใบประดับสีเขียวอ่อน รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๘ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงบนรูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปใบหอก กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑.๓-๑.๖ ซม. ปลายแหลม โคนเชื่อมติดตามยาวกับโคนเส้าเกสรเจริญยื่นยาวเป็นคาง ด้านนอกเป็นสันนูน ๑ สัน ผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยงบนและกลีบเลี้ยงด้านข้างมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกด้านข้างรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน ผิวเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบล่าง ๑ กลีบ เป็นกลีบปาก สีขาวนวล ขอบกลีบทั้ง ๒ ข้างสีชมพูเข้ม รูปคล้ายช้อน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. ปลายแหลมและโค้งลง มักม้วนพับเข้าด้านใน ขอบกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย บริเวณกลางกลีบถึงปลายกลีบมีกลุ่มเนื้อเยื่อสีเหลืองแกมสีส้มเป็นสันนูน ๑ สัน ยาวประมาณ ๔ มม. เส้าเกสรสีขาวอมชมพู กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. คางยาวประมาณ ๕ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีชมพูเข้มหรือสีม่วงแกมสีชมพูรูปคล้ายหัวใจ กว้างและยาว ๒-๓ มม. กลุ่มเรณูสีเหลืองสด รูปไข่กลับ แบนเล็กน้อย มี ๘ กลุ่ม เรียงเป็น ๒ ชุด ชุดละ ๔ กลุ่ม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอกกว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตรียัมปวายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตรียัมปวาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichotosia pulvinata (Lindl.) Kraenzl.
ชื่อสกุล
Trichotosia
คำระบุชนิด
pulvinata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Kraenzlin, Friedrich (Fritz) Wilhelm Ludwig
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Kraenzlin, Friedrich (Fritz) Wilhelm Ludwig (1847-1934)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายภัทธรวีร์ พรมนัส และ รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง