ดาวเรืองใหญ่

Tagetes erecta L.

ชื่ออื่น ๆ
คำปูจู้หลวง (เหนือ); ดาวเรือง (กลาง); พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง เป็นเหลี่ยม มักแตกกิ่งก้านสาขามาก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบบนเรียงเวียน รูปรี ใบย่อยมี ๙-๑๑ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ที่ปลายยอด ดอกสีเหลืองถึงสีส้ม อาจพบสีน้ำตาลอมแดงบ้าง ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอก เป็นดอกเพศเมีย รูปลิ้น และดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรง กระบอกแคบ สีค่อนข้างดำ มีขนสากแนบตามสัน ที่ปลายมีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นเกล็ด ๕-๘ เกล็ด มีเมล็ด ๑ เมล็ด


     ดาวเรืองใหญ่เป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตรง เป็นเหลี่ยม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. เกลี้ยง มักแตกกิ่งก้านสาขา มาก
     ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบ บนเรียงเวียน รูปรี กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ใบย่อย มี ๙-๑๑ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ มม. ยาว ๑.๕-๖ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบเรียว ขอบจักฟันเลื่อย ใบบนจักเป็นหนามแหลม มีต่อมเป็นจุด ๒-๓ ต่อม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีต่อมน้ำมัน ก้านใบ ยาวได้ถึง ๓.๕ ซม. อาจมีพูด้านข้างเล็ก ๆ เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบไม่เด่นชัด

 

 


     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวที่ปลาย ยอด เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๙ ซม. ก้านช่อยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายก้านช่อขยายใหญ่ กว้าง ๐.๕-๑.๒ ซม. วงใบประดับรูปค่อนข้างกลมถึงรูประฆังแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๒-๑.๘ ซม. สูง ๑.๕-๒.๕ ซม. มีสันตามยาว ๘-๑๓ สัน ร่องบางใส ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๘-๑๓ แฉก มีต่อมรูปรีแคบ ดอกสีเหลืองถึงสีส้มอาจพบ สีน้ำตาลอมแดงบ้าง ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอก ย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย รูปลิ้น มีประมาณ ๘ ดอก ในพันธุ์ปลูกมีมากกว่า ๘ ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเกล็ด บางใส ๕-๘ เกล็ด กลีบดอก ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็น หลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายเชื่อมติดกันแผ่เป็นแผ่น รูปไข่กลับถึงรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแผ่นหยักเป็น ๒ หยัก ขอบเป็น คลื่น และดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเกล็ดบางใส ๕-๘ เกล็ด กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านในมีขน สั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกจากกัน อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปรีติดกันทางด้านข้างและหุ้ม ก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดกลีบดอก เล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
     ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๘-๙ มม. สีค่อนข้างดำ มีขนสากแนบตามสัน ที่ปลาย มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นเกล็ด ๕-๘ เกล็ด รูปลิ่มแคบ มีประมาณ ๒ เกล็ดที่เป็นรยางค์แข็ง ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. ที่เหลือยาว ๔-๔.๕ มม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด
     ดาวเรืองใหญ่เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่น กำเนิดในเม็กซิโก นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศ ไทย ปัจจุบันมีการปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อนและ กึ่งเขตร้อน ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี
     ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกและเป็นพืช สมุนไพร.

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดาวเรืองใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tagetes erecta L.
ชื่อสกุล
Tagetes
คำระบุชนิด
erecta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- L.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- L.ช่วงเวลาคือ (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
คำปูจู้หลวง (เหนือ); ดาวเรือง (กลาง); พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.