ดาดภูคา

Begonia hatacoa Buch.-Ham. ex D. Don

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นอวบน้ำ สีแดงเข้ม และมีเหง้าทอดเลื้อยไปตามหิน มีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี สีเขียว อาจมีแต้มสีขาวหรือสีเงินบนแผ่นใบด้านบน ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอก แบบช่อกระจุก ๒ ด้าน ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวอมชมพู ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ เมื่อแห้งสีน้ำตาลอ่อน มี ๓ ปีก ขนาดไม่เท่ากัน เมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาล รูปคล้ายถังเบียร์ มีจำนวนมาก


     ดาดภูคาเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ ๔๕ ซม. อวบน้ำ สีแดงเข้ม และมีเหง้าทอดเลื้อยไปตามหิน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. มีข้อและปล้องชัดเจน มี รากจำนวนมาก
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว มนกลม ขอบเรียบหรือหยักมน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ สีเขียว เกลี้ยง อาจมีแต้มสีขาวหรือสีเงินบนแผ่นใบด้านบน เส้น ใบแบบขนนกกึ่งรูปฝ่ามือ มี ๕-๖ เส้น ออกใกล้โคนเส้น กลางใบ มีเส้นแขนงใบข้างละ ๒-๓ เส้น เห็นชัดทาง ด้างล่าง ก้านใบยาว ๔-๕ ซม. หูใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดทน
     ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก ๒ ด้าน ออกตามซอกใบ ช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. เกลี้ยง ใบประดับลักษณะคล้ายเยื่อ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายแหลม ขอบเรียบ ร่วงง่าย ดอกสีขาวอมชมพู ดอกเพศผู้ตั้งตรง สมมาตร ตามรัศมี ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง กลีบรวม ๔ กลีบ สีขาวอมชมพู กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายมน โคนมนกลม ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบวงใน ๒ กลีบ รูปรี กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายขอบหยัก โคนมนกลม ขอบเรียบ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ดอกเพศเมียไม่สมมาตร ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. กลีบรวม ๕ กลีบ เกลี้ยง กลีบวงนอก ๓ กลีบ รูปกลม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบวงใน ๒ กลีบ รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่อง มีออวุลจำนวนมาก มีปีกตามยาว ๓ ปีก ขนาดไม่เท่ากัน สีแดงเข้ม ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้าน โคนเชื่อม ติดกัน ยอดเกสรเพศเมียรูปจันทร์เสี้ยว บิดเป็นเกลียว
     ผลแบบผลแห้งแตก ห้อยลง ทรงรูปไข่ กว้าง ๕- ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลอ่อน มี ๓ ปีก ขนาดไม่เท่ากัน ปีกด้านล่างรูปสามเหลี่ยมตั้งฉาก กับผล กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปีก ด้านข้างแคบ โค้งตามแนวความยาวของผล ยาว ๔-๕ ซม. เมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาล รูปคล้ายถังเบียร์ มีจำนวนมาก
     ดาดภูคาเป็นพรรณไม้ที่เป็นดัชนีชี้วัดสภาพ แวดล้อมที่ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทาง ภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขาริมลำธาร บริเวณหินที่ปกคลุม ไปด้วยมอสส์ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๔๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่าง ประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดาดภูคา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Begonia hatacoa Buch.-Ham. ex D. Don
ชื่อสกุล
Begonia
คำระบุชนิด
hatacoa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Buch.-Ham. ex D. Don
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Buch.-Ham. ช่วงเวลาคือ (1762-1829)
- D. Don ช่วงเวลาคือ (1799-1841)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.