ดังปรอก

Xylosma brachystachys Craib

ชื่ออื่น ๆ
บ่าก้านป่า (เชียงใหม่)

ไม้ต้นขนาดเล็ก มีหนามกระจายทั่วไปตามกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกสีเขียว ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึง หลายเมล็ด รูปทรงกลม สุกสีแดง เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดรูปครึ่งทรงกลม มี ๑-๒ เมล็ด


     ดังปรอกเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๓ ม. มี หนามยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. กระจายทั่วไปตามกิ่ง พบตาม ต้นได้บ้าง กิ่งที่เกิดใหม่มักมีขนกางปกคลุม กิ่งแก่เกือบ เกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๖ ซม. ยาวประมาณ ๑๗ ซม. ปลายเรียว แหลม โคนรูปลิ่มถึงกลม ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบแบบขนนกข้างละ ๗ เส้น นูนทั้ง ๒ ด้าน ก้าน ใบยาวได้ถึง ๖ มม. มีขนกางปกคลุมประปราย หูใบขนาด เล็ก ร่วงง่าย
     ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกที่ซอกใบ เกลี้ยง ดอกสีเขียว ไม่มี กลีบดอก ก้านดอกยาวได้ถึง ๖ มม. เป็นข้อต่อใกล้โคน เกลี้ยง มีใบประดับ ๑ ใบ ติดทน กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ รูป ไข่ถึงรูปกลม ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ปลายมนกลม หรือเรียวแหลม เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม ดอกเพศผู้ มีเกสรเพศผู้ ๓๐-๔๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวได้ถึง ๒ มม. อับเรณูเล็ก จานฐานดอกสีออกแดง เล็ก นุ่ม และเห็น เป็นพูซึ่งเกิดจากการเบียดของก้านชูอับเรณู ไม่มีเกสร เพศเมีย ดอกเพศเมียมีจานฐานดอกที่มีจำนวนพูน้อยกว่า ในดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้เป็นหมันสั้นกว่าและน้อยกว่า เกสรเพศผู้ในดอกเพศผู้ ไม่มีอับเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง แต่มักมีผนังเทียมกั้นเห็นคล้าย ๒ ช่องที่ใกล้ ยอดรังไข่ แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย สั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
     ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๖ มม. สุกสีแดง เมื่อแห้งเปลี่ยน เป็นสีดำ มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสร เพศเมียติดทน เมล็ดรูปครึ่งทรงกลม ยาวได้ถึง ๔ มม. มี ๒ เมล็ด
     ดังปรอกเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการ กระจายพันธุ์เกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผล เดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดังปรอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylosma brachystachys Craib
ชื่อสกุล
Xylosma
คำระบุชนิด
brachystachys
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib ช่วงเวลาคือ (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
บ่าก้านป่า (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อารีย์ ทองภักดี
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.