ดองดึง

Gloriosa superba L.

ชื่ออื่น ๆ
คมขวาน, บ้องขวาน, หัวขวาน (ชลบุรี); ดองดึงหัวขวาน (ทั่วไป); ดาวดึงส์, ว่านก้ามปู (กลาง); พันมหา (นครราชสีมา); มะขาโก้ง (เหนือ); หมอยหีย่า (อุดรธานี)

ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี มีหัวใต้ดิน ลำต้นเหนือดินมีข้อปล้อง ใบเดี่ยว เรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงเยื้องเกือบ ตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก ใบที่อยู่บริเวณใกล้ยอดมักมีปลายเรียวยื่นยาวโค้งม้วนงอเป็นมือเกาะ ดอกเดี่ยว ออก ตามบริเวณข้างซอกใบหรือเหนือซอกใบ ดอกมักห้อยลง สีเหลืองแกมสีแดงถึงสีส้มหรือสีแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่กลับแกมรูปทรงกระบอก เมล็ดสีแดง รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงรี มีขนาดเล็ก


     ดองดึงเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี มีหัวใต้ดิน รูปคล้ายทรงกระบอกสั้น ลำต้นเหนือดินมีข้อปล้อง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงเยื้องเกือบ ตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๘- ๒๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โดยเฉพาะใบที่อยู่ บริเวณใกล้ยอดมักมีปลายเรียวยื่นยาวโค้งม้วนงอเป็นมือ เกาะ โคนมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบสีเขียวเป็น มัน เส้นกลางใบเด่นชัด เส้นแขนงใบแบบขนานออกจาก โคนใบ เห็นไม่ค่อยชัด ก้านใบสั้นมาก
     ดอกเดี่ยว ออกตามบริเวณข้างซอกใบหรือเหนือ ซอกใบ ก้านดอกยาว ๔-๑๕ ซม. ก้านค่อนข้างตรงและแข็ง ปลายงอโค้ง ดอกมักห้อยลง สีเหลืองแกมสีแดงถึงสีส้ม หรือสีแดง กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรีแคบ รูปไข่แกมรูปแถบ กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคน รูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นพลิ้ว สีของกลีบแตกต่างตามพันธุ์ มี ทั้งที่โคนกลีบและขอบกลีบสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลือง กลางกลีบถึงปลายกลีบสีส้มถึงสีแดง หรือมีสีแดงตามเส้น กลางกลีบ เมื่อดอกบานกลีบโค้งกลับไปในทิศตรงข้ามกับเกสรและมีสีเข้มมากยิ่งขึ้น เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับ เรณูยาว ๓-๕ ซม. อับเรณูยาว ๐.๗-๑ ซม. ติดแบบไหว ได้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกสั้น มี ๓ พู และ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศ เมียยาว ๔-๕.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 

 

 


     ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกหรือทรง รูปไข่กลับแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. เมล็ดสีแดง รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงรี มีขนาดเล็ก
     ดองดึงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่รกร้าง ป่าโปร่ง พื้นที่ราบต่ำไปจน ถึงที่สูงจากระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและ เป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย
     ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ หัวเป็นสมุนไพร ใช้แก้ปวดตามข้อ ในหัวใต้ดินมีแอลคาลอยด์หลายชนิด ที่สำคัญคือ คอลชิซีน (colchicine) เป็นสารที่มีความ เป็นพิษ ใช้ในการศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์ หากใช้ ปริมาณมากอาจเป็นพิษถึงตายได้.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดองดึง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gloriosa superba L.
ชื่อสกุล
Gloriosa
คำระบุชนิด
superba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- L.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- L. ช่วงเวลาคือ (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
คมขวาน, บ้องขวาน, หัวขวาน (ชลบุรี); ดองดึงหัวขวาน (ทั่วไป); ดาวดึงส์, ว่านก้ามปู (กลาง); พันมหา (นครราชสีมา); มะขาโก้ง (เหนือ); หมอยหีย่า (อุดรธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.