ดอกไมยราบ

Hedyotis sessilifolia E. T. Geddes

ชื่ออื่น ๆ
ม้าอีก่ำ (เลย)

ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก รูปรี หรือรูปใบหอก ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ปลายเป็นติ่งแหลมคล้ายหนาม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกเล็ก สีขาว หรือสีนวล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดเล็ก ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็กมาก รูปค่อนข้างมน มีเหลี่ยม


     ดอกไมยราบเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๔๕ ซม. กิ่งอ่อนมีขน กิ่งแก่เกลี้ยง
     ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูป ใบหอก รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๔-๒.๕ ซม. ยาว ๓- ๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ หรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างบาง เกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๕ เส้น เส้นใบด้านบนมักเป็นร่อง ด้านล่างนูนเห็นชัด ก้านใบสั้น มากหรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายเป็นติ่งแหลมคล้ายหนาม
     ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ก้านช่อ และแกนช่อเกลี้ยง ใบประดับรูปคล้ายใบขนาดเล็กมาก ไร้ก้าน ใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ ๐.๖ มม. ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาว ประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม แคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ มม. เกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาว ปากหลอดผายออก เล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแหลม ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชู อับเรณูเรียว ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบ ขนาน ยาวประมาณ ๑.๔ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย เรียวเล็ก ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน ยาวประมาณ ๑ มม.
     ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม ขนาด เล็ก ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็กมาก รูป ค่อนข้างมน มีเหลี่ยม
     ดอกไมยราบเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าหญ้า ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดอกไมยราบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedyotis sessilifolia E. T. Geddes
ชื่อสกุล
Hedyotis
คำระบุชนิด
sessilifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- E. T. Geddes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- E. T. Geddes ช่วงเวลาคือ (fl. 1927)
ชื่ออื่น ๆ
ม้าอีก่ำ (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.