ดอกไข่ปู

Synotis phupeakensis H. Koyama

ไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีเหลือง ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อย วงนอกเป็นดอกเพศเมีย และดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกแคบ มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นหนามแข็ง สีขาว มี ๑ เมล็ด


     ดอกไข่ปูเป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑ ม. ลำต้นตั้ง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ กว้างได้ถึง ๓.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๑๖ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยเป็นติ่งหนาม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ก้านใบสั้น ยาวได้ถึง ๕ มม. โคนเป็นรูปติ่งหู โอบหุ้มลำต้น ใบบน ๆ มีขนาดเล็กกว่า
     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้าย ช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอก ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นหยิก มีใบประดับ ๓-๔ ใบ ช่อ ย่อยแบบช่อกระจุกแน่น เมื่อดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑ ซม. ฐานดอกร่วมกึ่งรูประฆัง กว้างและสูง ประมาณ ๕ มม. ขอบเป็นชายครุย มีใบประดับ ๓-๕ ใบ รูปใบหอกแกมรูปแถบแคบ ช่อกระจุกแต่ละช่อมีวงใบ ประดับที่มีใบประดับประมาณ ๑๐ ใบ เรียง ๑ ชั้น รูป แถบแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๓ มม. ขอบบาง และแห้ง ผิวด้านในเกือบเกลี้ยง ปลายมีขนประปราย กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นรยางค์ ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี ๕ ดอก กลีบดอก สีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแผ่ออกเป็น รูปใบหอก ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายหยักซี่ฟัน ๓ ซี่ มี เส้นกลีบ ๔ เส้น และดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มี ๗-๘ ดอก กลีบดอกสีเหลือง ยาวประมาณ ๕.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลาย จักเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๓.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกกัน อับเรณูรูปแถบ ปลายมัก ยาวคล้ายหาง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มก้านยอด เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก ปลายแฉก ตัดหรือโค้ง มีต่อมเล็กสั้นถึงยาวตามขอบ และมักมีกลุ่ม ต่อมที่ตรงกลาง
     ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๒.๕-๔ มม. มีริ้วและมีขนสั้นนุ่มประปราย มีกลีบ เลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นหนามแข็ง ยาว ประมาณ ๕ มม. สีขาว มี ๑ เมล็ด
     ดอกไข่ปูเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการ กระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามดิน ทรายในป่าผสมผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดอกไข่ปู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Synotis phupeakensis H. Koyama
ชื่อสกุล
Synotis
คำระบุชนิด
phupeakensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- H. Koyama
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- H. Koyama ช่วงเวลาคือ (1937-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.