ซ้อหิน

Gmelina racemosa (Lour.) Merr.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีน้ำตาลแต้มเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปปากเปิด ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปคล้ายกระบองปลายตัด มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงรี

ซ้อหินเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๒๐ ม. ผลัดใบ เปลือกสีเทา กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนหนาแน่นมีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๕-๑๑ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มถึงรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเป็นมันมีขนสั้นประปรายที่โคนเส้นใบ ด้านล่างสีเทา เกลี้ยงถึงมีขนประปราย บริเวณโคนใบมีต่อมรูปกลมถึงรูปรีประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว ๒-๗ ซม. เป็นร่องเล็กน้อยทางด้านบน เกลี้ยงถึงมีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก



หรือไม่มี ก้านและแกนช่อดอกมีขนกำมะหยี่หนาแน่น ก้านดอกยาวได้ถึง ๕ มม. ใบประดับคล้ายใบแต่มีขนาดเล็กกว่า รูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกม รูปรี กว้าง ๒.๕-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ร่วงง่าย ดอกสีน้ำตาลแต้มเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๕-๑.๘ ซม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีเทาและมีต่อมสีน้ำตาลประปราย ด้านในเกลี้ยง ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ขนาดเล็กมาก กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๖ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ ซม. ด้านนอกสีเทา มีขนสั้นนุ่ม

และมีต่อม ด้านในสีน้ำตาลแดง มีขนสั้นนุ่ม ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกแหลมหรือมนแยกเป็นซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกกลาง มีขนาดใหญ่สุด ด้านในมีสีเหลือง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดในหลอดกลีบดอกและโผล่ไม่พ้นหลอด กลีบดอก แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูสีเหลือง อับเรณูสีม่วงแดง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับ มีขนกำมะหยี่ที่ปลาย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๒-๓ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปคล้ายกระบองปลายตัด กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. มีเนื้อฉ่ำน้ำสุกสีเขียวแกมม่วง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงรี

 ซ้อหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และเวียดนามตอนเหนือและตอนกลาง

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซ้อหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gmelina racemosa (Lour.) Merr.
ชื่อสกุล
Gmelina
คำระบุชนิด
racemosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี