ซ้องแมว

Gmelina philippensis Cham.

ชื่ออื่น ๆ
ข้าวจี่, คางแมง, เล็บแมว (กลาง); จิงจาย, จิ้งจ๊อ, ปะงางอ, ยวงขนุน (ใต้); ซ้อแมว (เหนือ)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย มักเปลี่ยนเป็นหนามแข็ง กิ่งหรือต้นอ่อนมีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกคล้ายช่อหางกระรอกออกที่ปลายกิ่ง ช่อห้อยลง มีใบประดับย่อยเรียงซ้อนทับกันตลอดช่อ ดอกสีเหลือง กลีบดอกรูปปากเปิดผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปกระสวย

ซ้องแมวเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูงหรือยาว ๒-๕ ม. กิ่งออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยกิ่งโค้ง ลู่ลง และมักเปลี่ยนเป็นหนามแข็งตรง ยาวประมาณ ๑ ซม. กิ่งหรือต้นอ่อนมีขนสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย บางครั้งอาจหยักตื้นเป็น ๓ หยัก แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เกลี้ยง ด้านล่างสีเขียวอ่อนหรือเป็นคราบขาวและมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๘ เส้น ปลายจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบบางครั้งพบเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเมื่อแห้งมีสีคล้ำเกือบดำ เส้นใบย่อยแบบร่างแห พอเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. เป็นร่องทางด้านบน เมื่ออ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น

 ช่อดอกคล้ายช่อหางกระรอก ออกที่ปลายกิ่ง ช่อห้อยลง ยาว ๕-๒๐ ซม. มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกและก้านดอกมีใบประดับและใบประดับย่อยสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดง รูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ เรียงซ้อนทับกันตลอดช่อ กว้าง ๑-๓ ซม.


ยาว ๐.๕-๔ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมสั้น ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. มีขนหนาแน่น ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายหยักตื้น ๓-๕ หยัก ด้านนอกมีขนหนาแน่น มีต่อม ๒-๔ ต่อมใกล้ขอบหยักกลีบดอกรูปปากเปิด กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๖ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวยโค้ง ปลาย

ผายออก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนสั้นและเรียบ ซีกล่างยาวกว่า ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน แฉกกลางยาวกว่าแฉกข้าง ปลายม้วนโค้งมาทางโคนกลีบ ด้านนอกมีขนนุ่มหนาแน่น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดที่หลอดกลีบดอกและอยู่ภายในหลอด กลีบดอก ก้านชูอับเรณูโค้ง อับเรณูรูปค่อนข้างกลมโคนกางออกจากกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีเกลี้ยง บางครั้งมีต่อม มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง มีเนื้อนุ่ม รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. สุกสีเหลือง เมล็ดแข็ง รูปกระสวย มี ๑ เมล็ด

 ซ้องแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณและป่าละเมาะทั่วไป ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซ้องแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gmelina philippensis Cham.
ชื่อสกุล
Gmelina
คำระบุชนิด
philippensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Chamisso, Ludolf Karl Adelbert von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1781-1838)
ชื่ออื่น ๆ
ข้าวจี่, คางแมง, เล็บแมว (กลาง); จิงจาย, จิ้งจ๊อ, ปะงางอ, ยวงขนุน (ใต้); ซ้อแมว (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี