ซุมหิน

Hedyotis capitellata Wall. ex G. Don var. pubescens Kurz

ชื่ออื่น ๆ
กำลังหัวละมาน (ลำปาง), เครือเข้าขึ้น (เชียงใหม่)
ไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนสั้น กิ่งแก่เหลี่ยมค่อนข้างมน ลำต้นแก่มีเนื้อไม้ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเล็ก มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวหรือสีนวล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม ปลายผลบุ๋มเป็นแอ่งตื้น มีขน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก รูปทรงค่อนข้างมน มีเหลี่ยม

ซุมหินเป็นไม้เลื้อย กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนสั้น กิ่งแก่เหลี่ยมค่อนข้างมน ลำต้นแก่มีเนื้อไม้

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบางเกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีจางกว่า อาจมีขนสั้นประปราย ส่วนมากเส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น พบน้อยที่มี ๒ เส้น หรือ ๕ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเห็นชัด ก้านใบยาว ๑-๕ มม. เกลี้ยง หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเล็ก ขอบเป็นแฉกลึกคล้ายขนแข็ง มี ๕-๑๑ แฉก มีขนสีเหลืองอมน้ำตาล

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกมีขนสั้น ช่อแขนงหรือช่อย่อยที่อยู่ตามแกนช่อมักออกเป็นคู่ตรงข้าม มี ๑-๓ คู่ ช่อแขนงแบบช่อกระจุก ค่อนข้างแน่น ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ก้านช่อแขนงยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. มีขนสั้น ใบประดับรูปสามเหลี่ยม เรียวแหลม ยาว ๑-๙ มม. ดอกเล็ก สีขาวหรือสีนวล ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลม เหยียดตรง ด้านนอกมีขนสั้น ด้านในมีขนสากคาย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๕ มม. ปากหลอดผายออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก พบน้อยที่มี ๓ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนที่ปลายแฉก ด้านในมีขนสีขาวยาวนุ่มหนาแน่นที่ปากหลอดกลีบดอกและบริเวณกลางแฉกกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๕-๓ มม. เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑-๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ที่ส่วนบนของรังไข่ในวงรอบของกลีบเลี้ยงมีขนหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๒.๕-๖ มม. ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน ยาว ๑-๑.๕ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ปลายผลบุ๋มเป็นแอ่งตื้นมีขน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก รูปทรงค่อนข้างมนมีเหลี่ยม

 ซุมหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบตามที่โล่งริมทางในป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๖๐๐ ม.ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซุมหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedyotis capitellata Wall. ex G. Don var. pubescens Kurz
ชื่อสกุล
Hedyotis
คำระบุชนิด
capitellata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. pubescens
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Kurz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
กำลังหัวละมาน (ลำปาง), เครือเข้าขึ้น (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์