ซุดแดง

Toxocarpus spierei Costantin

ชื่ออื่น ๆ
นกเขาเหงา (จันทบุรี)
ไม้เถา แยกแขนงมากชิดกันแน่น ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งเรียวเล็กคล้ายเส้นลวด กิ่งอ่อนใบ และช่อดอกมีขนยาวนุ่มสีสนิมหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรี มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ดอกสีนวลถึงสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปกระสวยแกมรูปทรงกระบอก โค้งเล็กน้อย มักออกเป็นคู่และกางออกจากกัน ผิวผลมีขนสั้นนุ่มเมล็ดแบน รูปขอบขนาน ปลายด้านหนึ่งมีขนยาวเป็นพู่

ซุดแดงเป็นไม้เถา แยกแขนงมากชิดกันแน่นทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งเรียวเล็กคล้ายเส้นลวด กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนยาวนุ่มสีสนิมหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๔.๕-๑๔ ซม. ปลายมน ปลายสุดมีติ่งเรียวแหลม โคนสอบเรียว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น โค้งขึ้นและเชื่อมกันใกล้ขอบใบ ก้านใบ ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขนสีสนิม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ทั้งช่อยาวประมาณ ๔ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๕ มม. ช่อแขนงแยกเป็นคู่ ดอกในช่อค่อนข้างแน่น ก้านดอกสั้นมาก ดอกตูมยาวรี กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายมนด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในมีต่อมระหว่างโคนกลีบ กลีบดอกสีนวลถึงสีเหลือง รูปคล้ายวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมนแฉกเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางซ้าย รยางค์เส้าเกสร ๕ อัน แต่ละอันเป็นแผ่นแบน ปลายหยักเล็กน้อยสั้นกว่าเส้าเกสรและติดที่โคนของก้านเกสรเพศผู้เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสรอยู่


ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเป็นแผ่น อับเรณูขนาดเล็ก ล้อมรอบส่วนโคนของก้านยอดเกสรเพศเมียกลุ่มเรณูมี ๔ กลุ่ม รูปทรงรีค่อนข้างกลมและมักเบี้ยวเล็กน้อย ติดบนก้านกลุ่มเรณูสั้น ๆ ปุ่มเหนียวที่โคนก้านรูปไข่ อยู่บนแผ่นใสรูปขอบขนาน สีเหลืองอ่อน โคนสอบเป็นก้านสั้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่แยกจากกันเป็นอิสระ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียโคนกว้าง ปลายสอบเรียว ยอดเกสรเพศเมียแยกลึกเป็นเส้นเรียว ๒ เส้น

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปกระสวยแกมรูปทรงกระบอก โค้งเล็กน้อย กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. มักออกเป็นคู่และกางออกจากกัน ผิวผลมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดแบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่ ยาว ๑.๕-๒ ซม.

 ซุดแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคกลาง พบตามที่โล่งและชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ซุดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Toxocarpus spierei Costantin
ชื่อสกุล
Toxocarpus
คำระบุชนิด
spierei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Costantin, Julien Noёl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1857-1936)
ชื่ออื่น ๆ
นกเขาเหงา (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง