ช้าเลือด

Premna serratifolia L.

ชื่ออื่น ๆ
เค็ดน้ำมัน, อัคคีทวารทะเล (ใต้); มันไก่ (ลำปาง); สามประงา, สามประงาใบ (ประจวบคีรีขันธ์)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล กิ่งแก่เป็นสี่เหลี่ยมขอบมน เกือบเกลี้ยง บริเวณข้อมีสันตามขวาง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง คล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีนวล กลีบดอกรูปปากเปิดคอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ รูปทรงเกือบกลมหรือทรงรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก

ช้าเลือดเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อย สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล กิ่งแก่เป็นสี่เหลี่ยมขอบมน เกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศขนาดใหญ่กระจายทั่วไป บริเวณข้อมีสันตามขวาง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๒.๕-๑๕ ซม.ปลายแหลมหรือมน พบบ้างที่ปลายเรียวแหลมหรือเว้าตื้น โคนรูปลิ่ม พบบ้างที่โคนมนกลมหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อยตั้งแต่บริเวณกึ่งกลางถึงปลายใบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน มีขนประปรายเฉพาะบริเวณเส้นกลางใบและขอบใบ ส่วนอื่นเกลี้ยงด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนประปราย และมีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีน้ำตาลประปราย มักมีขนบริเวณซอกระหว่างเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบใกล้โคนใบเส้นกลางใบด้านบนเรียบ ด้านล่างนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑-๖ ซม. ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง คล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๒-๑๕ ซม. ก้านช่อดอกหนา เป็นสี่เหลี่ยมมน ยาว ๒-๖ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ มม. ใบประดับรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๐.๒-๒ ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบยาว ๐.๕-๓ มม. ใบประดับทั้งหมดร่วงง่าย ดอกเล็กมีจำนวนมาก สีขาวหรือสีนวล กลีบเลี้ยงรูปปากเปิดยาว ๑-๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ยาวไม่เท่ากันซีกบน ๓ แฉก ส่วนใหญ่แฉกไม่ชัดเจน เห็นเป็นขอบเรียบ พบบ้างที่ซีกบนเห็นชัดเป็น ๒-๓ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมหรือมน ซีกล่าง ๒ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ปลายมนหรือแหลม แฉกกลีบเลี้ยงทุกแฉกเกลี้ยงหรือมีขนและต่อมสีเหลืองขนาดเล็กประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปทรงกระบอกกว้าง ด้านนอกมีขนและต่อมสีเหลืองประปราย โดยต่อมจะมีมากกว่าบริเวณปลายหลอดดอก คอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่นปลายแยกเป็น ๕ แฉก ซีกบน ๒ แฉก เชื่อมติดกันเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายมนหรือเว้าตื้น ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกกลางรูปขอบขนานกว้างหรือรูปไข่แกม รูปขอบขนาน ปลายมน แฉกข้างรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมน แฉกกลีบดอกทุกแฉก ด้านนอกเกลี้ยง หรือมีขนสั้นและมีต่อมขนาดเล็กประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดในหลอดดอก โผล่พ้นหลอดดอก แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปไข่สีน้ำตาล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือเกือบกลม ยาว ๐.๕-๑ มม. เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๒-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก หนาและสั้น

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับรูป ทรงเกือบบกลม หรือทรงรูปไข่ ยาว ๓-๘ มม. เกลี้ยงผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทนยาว ๒-๓ มม. ก้านผลยาว ๑-๒ มม. เมล็ด ๔ เมล็ด ขนาดเล็ก

 ช้าเลือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามขอบป่าชายเลนหรือตามป่าชายหาด ที่สูงใกล้ระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย

 ประโยชน์ รากใช้เป็นยาแก้บวมและแก้ไข้ใบใช้เป็นผัก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าเลือด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Premna serratifolia L.
ชื่อสกุล
Premna
คำระบุชนิด
serratifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เค็ดน้ำมัน, อัคคีทวารทะเล (ใต้); มันไก่ (ลำปาง); สามประงา, สามประงาใบ (ประจวบคีรีขันธ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี