ช้าเรือด

Caesalpinia mimosoides Lam.

ชื่ออื่น ๆ
ทะเน้าซอง, ผักปู่ย่า, หนามปู่ย่า (เหนือ); ผักกาดหญ้า (ปราจีนบุรี); ผักขะยา (นครพนม); ผักคายา (เลย)
ไม้พุ่มตั้งตรงหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อยพัน ทุกส่วนมีขนสากแข็งหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียงตรงข้าม ประกอบด้วยช่อแขนงใบ ๑๐-๓๐ ช่อ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๑๐-๒๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน หูใบรูปลิ่มแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ปลายยอด ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก รูปคล้ายถุงกระเปาะ เมล็ดรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน มี ๒ เมล็ด

ช้าเรือดเป็นไม้พุ่มตั้งตรงหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อยพัน แต่มักพบเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยพัน ทุกส่วนมีขนสากแข็งหนาแน่น และมีหนามแข็งประปรายบริเวณลำต้น รวมทั้งก้านและแกนช่อใบ หนามมีทั้งปลายชี้ตรงและปลายโค้งลง ยาว ๑-๔ มม. ส่วนที่ยังอ่อนมีกลิ่นฉุน

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ยาว ๒๖.๕-๔๒.๕ ซม. เรียงเวียน ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. หูใบรูปลิ่มแคบ ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. ร่วงง่าย แกนกลางใบยาว ๒๕-๔๐ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๑ เรียงตรงข้ามประกอบด้วยช่อแขนงใบ ๑๐-๓๐ ช่อ ก้านใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๓-๕ มม. มีหนาม ๑ คู่ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายโค้งลง อยู่ระหว่างโคนก้าน แกนใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๑.๔-๖.๒ ซม. ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๑๖-๔๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ปลายมนกลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เห็นไม่ชัด เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยสั้นมากถึงไม่มี

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๐-๔๐ ซม. แกนช่อดอกมีขนแข็งสั้น


มีหนามแข็งประปรายและมีปุ่มหรือตุ่มขนาดเล็ก ใบประดับรูปลิ่มแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนยาวประปราย ด้านในเกลี้ยงก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๑.๗-๓ ซม. มีขนเช่นเดียวกับแกนช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนอุยและมีจุดด้านในเกลี้ยง โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ลักษณะคุ่ม กลีบใหญ่สุดกว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. กลีบดอกมี ๕ กลีบ กลีบรอบนอก ๔ กลีบ สีเหลือง กลีบในสุดรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายสีแดงโค้งขึ้นโคนสอบ มีก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. ด้านในมีขนเกลี้ยง

ทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็นอิสระก้านชูอับเรณูยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. บริเวณโคนมีขนหนาแน่น อับเรณูสีน้ำตาล รูปรีแกมรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ติดที่ฐานก้านรังไข่สั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ ซม. ส่วนโคนประมาณครึ่งของความยาวมีขน ส่วนปลายเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเฉียงและจักคล้ายฟันเลื่อย

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายถุงกระเปาะ โคนเรียวแคบ ปลายกลมถึงตัด มีจะงอยแหลมที่ปลาย กว้าง ๒.๓-๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. เปลือกผลแข็งคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขนและมีจุดประปราย ด้านในเกลี้ยง เมล็ดรูปทรงรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. เกลี้ยงมี ๒ เมล็ด

 ช้าเรือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบตามป่าดิบ พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางชายป่าเบญจพรรณ และพื้นที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๘๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม

 ประโยชน์ ยอดอ่อนและดอกอ่อนรับประทานเป็นผัก แก้ลม วิงเวียน หน้ามืด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าเรือด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caesalpinia mimosoides Lam.
ชื่อสกุล
Caesalpinia
คำระบุชนิด
mimosoides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1744-1829)
ชื่ออื่น ๆ
ทะเน้าซอง, ผักปู่ย่า, หนามปู่ย่า (เหนือ); ผักกาดหญ้า (ปราจีนบุรี); ผักขะยา (นครพนม); ผักคายา (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายพาโชค พูดจา