ช้าหนาดเขา

Paraboea barnettiae C. Puglisi

ชื่ออื่น ๆ
จาปะบาตู (ใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ผิวย่นและแข็ง แตกกิ่งห่าง ส่วนบนมีใบเรียงแน่นส่วนล่างมีรอยแผลใบอยู่ทั่วไป โคนต้นแผ่เป็นแขนงใหญ่แทรกอยู่ในซอกหิน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีม่วงอมฟ้า ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ บิดเป็นเกลียวห่าง ผิวย่นและขรุขระ สีน้ำตาลเข้ม มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายกระสวย สีน้ำตาล มีจำนวนมาก

ช้าหนาดเขาเป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม สูง ๓๐-๗๐ ซม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ผิวย่นและแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๕ มม. แตกกิ่งห่าง ส่วนบนมีใบเรียงแน่น ส่วนล่างมีรอยแผลใบอยู่ทั่วไป โคนต้นแผ่เป็นแขนงใหญ่แทรกอยู่ในซอกหิน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ชิดกันแน่นตามปลายกิ่ง ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบตามลำต้นหรือกิ่ง แผ่นใบรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๔.๒ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายมน โคนสอบ ขอบเกือบเรียบหรือหยักมนไม่เท่ากัน แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน อาจมีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวปกคลุมบาง ๆ ด้านล่างมีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่นและแนบชิดกับแผ่นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๖ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาวได้ถึง ๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ มี ๒-๖ ช่อ ออกตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ๓-๑๕ ซม. มีขนสีน้ำตาล แกนกลางช่อยาว ๓-๙ ซม. ใบประดับรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายแหลม โคนสอบแคบ ก้านสั้น มีขนสีน้ำตาลอมเหลืองหม่นหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาว ปลายแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเป็นแฉกเดี่ยว รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาวเท่ากัน ประมาณ ๘ มม.


ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๓ แฉก ส่วนล่างมี ๒ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. กลีบดอกสีม่วงอมฟ้า รูประฆังปากกว้าง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โค้งขึ้นเล็กน้อย กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. หลอดด้านบนสั้นกว่าด้านล่าง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยงเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ยาวประมาณ ๔ มม. ก้านชูอับเรณูเป็นแถบเกือบแบน สีขาว บิดงอตรงกลาง อับเรณูสีขาวนวลถึงสีน้ำตาลอ่อน ขนาดประมาณ ๒.๕ มม. กางถ่างออก อับเรณูแต่ละอับชิดติดกันเล็กน้อยที่ปลายและมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน เป็นติ่งคล้ายก้านชูอับเรณูขนาดเล็ก ยาว ๑-๒ มม. สีขาว อาจมีอับเรณูที่ลดรูปขนาดเล็กมากติดอยู่ด้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวได้ถึง ๘ มม. ปลายสุดแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๓.๕-๔.๗ ซม. บิดเป็นเกลียวห่างผิวย่นและขรุขระ สีน้ำตาลเข้ม มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายกระสวย สีน้ำตาล มีจำนวนมาก

 ช้าหนาดเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามหน้าผาหินปูนที่สูงชันและเปิดโล่ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย บริเวณตอนบนของคาบสมุทรมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าหนาดเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea barnettiae C. Puglisi
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
barnettiae
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 2011)
ชื่ออื่น ๆ
จาปะบาตู (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ