ช้าส้าน

Saurauia napaulensis DC.

ชื่ออื่น ๆ
ส้านแก่น (เหนือ)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลและมีรอยแผลใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ขอบจักฟันเลื่อยถี่ ปลายจักสีแดงเข้ม ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีชมพูแกมม่วง ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกรวยหรือรูปลิ่ม มีจำนวนมาก

ช้าส้านเป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๐ ม. เส้นรอบวง ๓๐-๖๐ ซม. เปลือกนอกสีน้ำตาลคล้ำ ค่อนข้างบางและเรียบ มีช่องอากาศกระจายห่าง ๆ กิ่งอ่อนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลและมีรอยแผลใบทั่วไป เนื้อไม้สีขาว ค่อนข้างอ่อน โดยเฉพาะส่วนกลางของกิ่งอ่อนที่เป็นโพรงตามแนวยาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปรี รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับกว้าง ๕-๑๑ ซม. ยาว ๑๔-๓๐ ซม. ปลายสอบมนหรือหยักคอดเป็นติ่งแหลม และมักโค้งเล็กน้อย โคนสอบขอบจักฟันเลื่อยถี่ ปลายจักสีแดงเข้ม แผ่นใบหนาด้านบนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง สีเขียวเข้ม ด้านล่างระยะแรก ๆ มีขนสีนวลหรือสีน้ำตาลหนาแน่น เส้นกลางใบนูน เห็นชัดทางด้านล่าง มีขนและช่องอากาศด้านบนเป็นร่อง เส้นแขนงใบข้างละ ๒๕-๓๕ เส้น เรียงถี่และขนานกัน แต่ละเส้นค่อนข้างตรง ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปก่อนถึงขอบใบ เมื่อแห้งทาง


ด้านล่างเป็นสันคม เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. เป็นร่องทางด้านบนมีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล โคนก้านแผ่กว้างเล็กน้อย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนก้านช่อย่อยและโคนก้านดอกมีใบประดับรูปใบหอกหรือรูปรี ๒ ใบ พบน้อยที่มี ๑ ใบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. ทุกส่วนมีขนและเกล็ดสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่นกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ค่อนข้างป้อมและงุ้มเข้า กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. เมื่ออ่อนมีขนประปรายตามผิวด้านนอก กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง รูปไข่กลับหรือรูปรี เรียงซ้อนเหลื่อม ขนาดใกล้เคียงกับกลีบเลี้ยงหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย ปลายกลีบชี้ขึ้นและขอบกลีบงุ้มเข้า เกสรเพศผู้จำนวนมาก ติดบริเวณโคนกลีบดอกล้อมรอบรังไข่ อับเรณูติดแบบไหวได้ แตกทางด้านบนรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ค่อนข้างป้อม กว้างประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง มี ๕ ช่อง พบน้อยที่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็นแฉกเรียวแหลม ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๓ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ค่อนข้างกลมกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๖ มม. เมื่อแก่จัดแตกตามรอยประสานจากปลายสู่โคน มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกรวยหรือรูปลิ่มกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. มีจำนวนมาก

 ช้าส้านมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามบริเวณที่โล่งและชายป่าดิบเขาใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๗๕๐-๒,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล เมียนมา จีน และมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าส้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Saurauia napaulensis DC.
ชื่อสกุล
Saurauia
คำระบุชนิด
napaulensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
ส้านแก่น (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย