ช้าพลู

Piper sarmentosum Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ชะพลู (กลาง); นมวา (ใต้); ผักปูนา, ผักพลูนก, พลูลิง (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ทุกส่วนเมื่อหักหรือขยี้มีกลิ่นฉุน ต้นอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่ หรือรูปรีดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น หรือดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดและออกตรงข้ามใบรูปทรงกระบอก ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล ขนาดเล็กมาก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีดำ ช่อผลรูปทรงกระบอก เมล็ดเล็ก รูปคล้ายผล

ช้าพลูเป็นไม้ล้มลุก ทุกส่วนเมื่อหักหรือขยี้มีกลิ่นฉุน ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อยตามผิวดินต้นอ่อนมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่ หรือรูปรีกว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลม โคนเว้ารูปหัวใจหรือโคนตัด มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวนวล เส้นโคนใบหรือใกล้โคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑-๒ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. หูใบรูปใบหอก

 ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น หรือดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดและออกตรงข้ามใบ รูปทรงกระบอก ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล ขนาดเล็กมาก ไร้ก้าน ดอกเรียงแน่นตามแกนช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับเล็กมาก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. ช่อดอกเพศผู้กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๑-๒ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๗ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๓ มม. มี ๒ พู แตกตามยาว ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๖-๒.๗ ซม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียมี ๓-๕ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. ติดแนบตามแกนช่อผล สุกสีดำ ช่อผลรูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๘-๑.๓ ซม. ยาว ๒-๓.๖ ซม. ก้านช่อผลยาว ๐.๕-๑.๖ ซม. เมล็ดเล็ก รูปคล้ายผล

 ช้าพลูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ปลูกได้ทั่วไปตามที่ร่มมีแสงรำไร พบตามชายป่าหรือป่าเสื่อมโทรม ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปีในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใช้เป็นผักและเป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าพลู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Piper sarmentosum Roxb.
ชื่อสกุล
Piper
คำระบุชนิด
sarmentosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ชะพลู (กลาง); นมวา (ใต้); ผักปูนา, ผักพลูนก, พลูลิง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์