ช้างสารภีน้อย

Acampe praemorsa (Roxb.) Blatt. et McCann

ชื่ออื่น ๆ
เอื้องตีนตุ๊กแก (กรุงเทพฯ)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปแถบ แผ่นใบตรง อวบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ไม่เห็นเส้นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบดอกเล็ก สีเหลือง มีลายประสีน้ำตาลอมแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย เมล็ดขนาดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก

ช้างสารภีน้อยเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด รากค่อนข้างใหญ่และแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. ต้นค่อนข้างแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ยาวได้ถึง ๔๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงซ้อนสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๑.๘ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ปลายเว้าตื้นเป็นแฉกมน ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากันโคนมีแนวขวางเหนือส่วนที่พับเข้าหากันและหุ้มต้น แผ่นใบตรง อวบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนังไม่เห็นเส้นใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตรงข้ามกับใบ แต่ละต้นมีหลายช่อ และมีดอกค่อนข้างแน่นเห็นเป็นกระจุก ทั้งช่อยาวประมาณ ๔ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. แกนช่อยาว ๑-๑.๒ ซม. ดอก ๑๒-๑๖ ดอก เรียงเวียนถี่รอบแกนช่อ ก้านดอกรวมรังไข่ยาวประมาณ ๕ มม. ใบประดับรูปคล้ายครึ่งวงกลม โคนกว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายเป็นติ่งแหลม ดอกสีเหลือง มีลายประสีน้ำตาลอมแดง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน ขอบโค้งลง กลีบด้านข้างรูปขอบขนานแกมรูปช้อน เบี้ยวกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมน


ขอบด้านหนึ่งตรง อีกด้านหนึ่งโค้ง กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. กลีบดอกที่เป็นกลีบปากช่วงปลายสีขาว อาจมีจุดประสีม่วงแดง รูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมน เนื้อกลีบหนา ผิวด้านบนขรุขระ มีปุ่มเล็ก ๆ สีขาวใส ขอบกลีบบางเป็นคลื่น กลีบปากช่วงโคนหนา สีเหลือง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ขอบโค้งขึ้น แนวกลางด้านบนเป็นแอ่ง มีขนละเอียดสีขาวประปราย โคนกลีบปากด้านล่างมีเดือยสีขาวนวล รูปทรงกระบอกกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมนเส้าเกสรสั้นมาก ฝาครอบกลุ่มเรณูสีเหลืองอ่อน รูปไข่ขอบโค้งลง กลุ่มเรณูมี ๒ คู่ แต่ละคู่ประกอบด้วยกลุ่มเรณูรูปครึ่งทรงกลมเบี้ยว ขนาดไม่เท่ากัน ประกบกันเป็นก้อน ก้านกลุ่มเรณูเป็นแผ่นบางใส โคนพับเป็นแป้นเหนียว รูปรี รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่ง รูปค่อนข้างกลมอยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแกมรูปกระสวย กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีสันตื้นตามยาว ๓-๖ สัน เมล็มีจำนวนมาก

 ช้างสารภีน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าผลัดใบที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา ลาว และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้างสารภีน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acampe praemorsa (Roxb.) Blatt. et McCann
ชื่อสกุล
Acampe
คำระบุชนิด
praemorsa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Blatter, Ethelbert
- McCann, Yale Mervin Charles
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Blatter, Ethelbert (1877-1934)
- McCann, Yale Mervin Charles (1899-1980)
ชื่ออื่น ๆ
เอื้องตีนตุ๊กแก (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง