ช้างน้าว

Ochna integerrima (Lour.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
กระแจะ (ระนอง, เหนือ); กำลังช้างสาร (กลาง, เชียงใหม่); ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี); ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวร
ไม้กึ่งพุ่ม ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอกรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ พบน้อยที่เป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อแขนงแบบช่อกระจุกด้านเดียว มี ๑-๓ ดอก ดอกสีเหลืองกลีบดอกร่วงง่าย กลีบเลี้ยงติดทน สีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเด่นชัด ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มี ๓-๑๕ ผล รูปทรงรี สีเขียว สุกสีดำเป็นมัน มี ๑ เมล็ด

ช้างน้าวเป็นไม้กึ่งพุ่ม ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๒ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับพบน้อยที่เป็นรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกแกมรูปแถบกว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๖-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมพบบ้างที่ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม พบบ้างที่เป็นรูปมน ขอบหยักซี่ฟันถี่ แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น โค้งขึ้นใกล้ขอบใบแต่ไม่เชื่อมกัน ก้านใบยาว ๑-๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกดกสะพรั่ง ใบประดับเล็กมักมีจำนวนมาก ติดที่โคนก้านช่อดอก ร่วงง่าย แกนกลางช่อยาว ๐.๕-๔ ซม. ช่อแขนงแบบช่อกระจุกด้านเดียว มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อแขนงยาว ๒-๘ มม. ติดทน ก้านดอกยาว ๒-๔ ซม. เมื่อเป็นผลอาจยาวได้ถึง ๕ ซม. ฐานดอกนูน รูปครึ่งทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒.๕ มม. สูง ๐.๕-๑ มม. เมื่อเป็นผลเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง ๑ ซม. สูงได้ถึง ๖ มม. มักพองและเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อเป็นผล กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๙ มม. ยาว ๑-๑.๖ ซม. เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม สีเขียวแล้ว


เปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อเป็นผล ติดทนและพับงอกลับเข้าหาก้านดอก กลีบดอก ๕-๗ กลีบ อาจพบได้ถึง ๑๐ กลีบ เรียง ๑-๒ ชั้น สีเหลือง เรียงบิดเวียนในดอกตูม

แต่ละกลีบรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๘-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. โคนกลีบสอบเรียวหรือกึ่งคล้ายก้านกลีบ ร่วงง่าย เกสรเพศผู้ ๒๕-๗๕ เกสร เรียงหลายชั้น ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน ยาว ๒.๕-๗ มม. ชั้นนอกยาวที่สุด มีสีแดงเมื่อเป็นผล ติดทน อับเรณูรูปใบหอกหรือรูปแถบ กว้าง ๐.๔-๐.๘ มม. ยาว ๔-๖ มม. แตกเป็นช่องที่ปลาย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖-๑๕ รังไข่ รูปไข่กลับ กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาว ๐.๗-๑.๑ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด โคนก้านยอดเกสรเพศเมียร่วมรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๒ ซม. ติดทน ยอดเกสรเพศเมียมีจำนวนเท่ากับรังไข่ ยาวประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งมี ๓-๑๕ ผล ติดใกล้ขอบฐานดอกที่ขยายใหญ่ แต่ละผลรูปทรงรี กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีดำเป็นมัน มี ๑ เมล็ด

 ช้างน้าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบ ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ปากีสถาน เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และหมู่เกาะอันดามัน

 ประโยชน์ รากใช้ขับพยาธิและบำบัดโรคน้ำเหลืองผิดปรกติ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้างน้าว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ochna integerrima (Lour.) Merr.
ชื่อสกุล
Ochna
คำระบุชนิด
integerrima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
กระแจะ (ระนอง, เหนือ); กำลังช้างสาร (กลาง, เชียงใหม่); ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี); ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวร
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อารีย์ ทองภักดี