ช้องรำพัน

Buxus rolfei S. Vidal

ชื่ออื่น ๆ
แก้วเขา (ประจวบคีรีขันธ์)
ไม้พุ่ม เปลือกมีคอร์ก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมต้นช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอก ดอกสีเหลืองถึงสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตกทรงรูปไข่ถึงรูปทรงกลม เมื่อแก่แตกตามรอยประสานเป็น ๓ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาน

ช้องรำพันเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๓ ม. เปลือกมีคอร์กและมีรอยแตกตามยาว กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าเส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๓ เส้น ก้านใบยาว ๒-๕ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่นออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอก ก้านช่อดอกยาว ๓ มม. มีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ปลายเรียวแหลม มีขน ช่อดอกประกอบด้วยดอกเพศผู้หลายดอกและดอกเพศเมีย ๑ ดอกที่ปลายช่อ แต่ละดอกมีใบประดับย่อยรองรับ ๑ ใบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๒ มม. ปลายเรียวแหลม มีขน ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๓-๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ สีเหลืองถึงสีเหลืองอมเขียว รูปเรือถึงรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ขอบมีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน อับเรณูรูปขอบขนาน ดอกเพศเมียมีก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๖-๗ กลีบ สีเหลืองถึงสีเหลืองอมเขียว รูปไข่ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแหลม ขอบมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปไข่กลับ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ดก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียอยู่ที่ส่วนปลายก้านด้านใน

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ ซม. ปลายมีรยางค์โค้งคล้ายเขา ๓ อัน เมื่อแก่แตกตามรอยประสานเป็น ๓ เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปขอบขนานสีดำเป็นมัน ผิวเกลี้ยง

 ช้องรำพันมีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบ โดยทั่วไปมักพบตามเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้องรำพัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Buxus rolfei S. Vidal
ชื่อสกุล
Buxus
คำระบุชนิด
rolfei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Vidal, Sebastian
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1842-1889)
ชื่ออื่น ๆ
แก้วเขา (ประจวบคีรีขันธ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวโสมนัสสา แสงฤทธิ์