ช้องนางคลี่

Huperzia phlegmaria (L.) Rothm.

ชื่ออื่น ๆ
เกล็ดนาคราช (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ยมโดย (กลาง); ระย้า (ใต้)
ไม้ล้มลุกหลายปี เป็นพืชไร้ดอกกลุ่มใกล้เคียงเฟิร์น ลำต้นห้อยลง แยกสาขาเป็นคู่ ๑-๓ ครั้ง ใบเดี่ยวประเภทไมโครฟิลล์ ขนาดเล็กมาก มีเพียงเส้นกลางใบ ๑ เส้น ไม่มีก้าน เรียงเวียนถี่ตลอดต้นรูปใบหอกแคบถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก สตรอบิลัสเห็นชัดที่ปลายกิ่ง แยกสาขาเป็นคู่ ๑-๒ ครั้ง รูปทรงกระบอก ใบสร้างอับสปอร์เรียงเวียนซ้อนกันแน่น อับสปอร์อยู่เดี่ยวตามซอกของใบสร้างอับสปอร์ รูปคล้ายไต

 ช้องนางคลี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี เป็นพืชไร้ดอกกลุ่มใกล้เคียงเฟิร์น ลำต้นห้อยลง ยาวได้ถึง ๘๐ ซม. หรือมากกว่า แยกสาขาเป็นคู่ ๑-๓ ครั้ง เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นโดยไม่รวมใบ ๑.๓-๙ มม.

 ใบเดี่ยวประเภทไมโครฟิลล์ ขนาดเล็กมาก มีเพียงเส้นกลางใบ ๑ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีก้านเรียงเวียนถี่ตลอดต้น รูปใบหอกแคบถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๖ มม. ยาว ๐.๕-๑.๖ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนกลมหรือตัด ขอบเรียบแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวอมเหลือง

 สตรอบิลัสเห็นชัดที่ปลายกิ่ง แยกสาขาเป็นคู่๑-๒ ครั้ง รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ มม. ยาว ๕.๕-๑๒.๕ ซม. ใบสร้างอับสปอร์เรียงเวียนซ้อนกันแน่น รูปไข่ถึงกึ่งรูปคล้ายสามเหลี่ยมกว้างและยาวประมาณ ๑ มม. เมื่ออับสปอร์เจริญเต็มที่ มักคลุมอับสปอร์ไม่มิด อับสปอร์อยู่เดี่ยวตามซอกของใบสร้างอับสปอร์ รูปคล้ายไต แตกตามแนวโค้งเป็น ๒ กาบ อับสปอร์สร้างสปอร์ชนิดเดียวขนาดเล็กจำนวนมาก

 ช้องนางคลี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบเป็นพืชอิงอาศัยตามไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หรือขึ้นตามซอกหินบริเวณที่มีดินอินทรีย์ในที่ร่มและชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้องนางคลี่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Huperzia phlegmaria (L.) Rothm.
ชื่อสกุล
Huperzia
คำระบุชนิด
phlegmaria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Rothmaler, Werner Hugo Paul
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Rothmaler, Werner Hugo Paul (1908-1962)
ชื่ออื่น ๆ
เกล็ดนาคราช (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ยมโดย (กลาง); ระย้า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด