ช่อแมว

Premna odorata Blanco

ชื่ออื่น ๆ
มะโมก (ชุมพร); สำดีงา (สุราษฎร์ธานี)
ไม้เลื้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีนวลกลีบดอกรูปปากเปิด คอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือเกือบกลม ผลแก่สีดำเป็นมัน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก

ช่อแมวเป็นไม้เลื้อย พบน้อยที่เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น กิ่งแก่รูปทรงกระบอก เกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศขนาดใหญ่กระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๓.๕-๑๒ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือรูปหัวใจ มักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย มีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีน้ำตาลประปราย ด้านล่างมีขนประปรายถึงหนาแน่น มีต่อมขนาดเล็กสีเหลืองหรือสีน้ำตาลกระจายทั่วไป เส้นกลางใบทางด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น ๆ มีขนอุยหนาแน่น ด้านล่างนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑-๓.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๒ ซม. ก้านช่อดอกเป็นสี่เหลี่ยม ยาว ๑-๓ ซม. ดอกเล็ก มีจำนวนมากสีขาวหรือสีนวล ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. ใบประดับใกล้โคนช่อรูปไข่ ใบประดับที่อยู่เหนือขึ้นไปรูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาว ๐.๑-๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาว ๐.๕-๒.๕ มม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยร่วงง่าย กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาว ๒-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก แยกเป็นซีกบน ๓ แฉก ซีกล่าง ๒ แฉก แฉกรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมปลายมน มีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กสีน้ำตาลทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๓-๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ด้านนอกมีขนสั้นประปรายคอหลอดดอกมีขนอุยสีขาวหนาแน่น ปลายหลอดมี ๔ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๑ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมน มีขนาดใหญ่สุด ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกกลางรูปไข่ ปลายมน แฉกข้างรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายมน โค้งออกด้านนอก แฉกกลีบดอกด้านนอกมีขนสั้นประปรายด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน โผล่พ้นหลอดดอก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่มีขนและต่อมประปราย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือเกือบกลม ยาว ๕-๗ มม. ผิวมีต่อม ผลแก่สีดำเป็นมันมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๔ เมล็ด

 ช่อแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้ง หรือตามป่าเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศเมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู เกาะชวา และเกาะสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Premna odorata Blanco
ชื่อสกุล
Premna
คำระบุชนิด
odorata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blanco, Francisco Manuel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1845)
ชื่ออื่น ๆ
มะโมก (ชุมพร); สำดีงา (สุราษฎร์ธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี