ช่อศิลา

Phtheirospermum parishii Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
คำหิน (เหนือ)
ไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก ดอกเดี่ยว สีเหลือง ออกตามซอกใบ ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปไข่เบี้ยว แบนข้าง ปลายเรียวแหลม เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

 ช่อศิลาเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเดี่ยวหรือแตกกิ่งจากโคน ต้นตั้ง สูง ๕-๑๖ ซม. มีขนต่อมประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก กว้าง ๐.๕-๑.๒ ซม. ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. หยักเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายหยักมน มีขนต่อมยาวประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๔ เส้น ก้านใบสั้น

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังกว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. เมื่อเป็นผลกว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๕-๖ มม. มีขนต่อมหนาแน่นปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบแกมรูปใบหอกปลายมนแฉกด้านบนสั้นกว่าแฉกอื่น ๆ กลีบดอกรูปปากเปิดสีเหลือง ยาว ๐.๖-๑ ซม. ด้านนอกมีขนต่อมประปราย


โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายมี ๕ แฉกแยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก เชื่อมติดกันเป็นรูปไข่กว้าง กว้างและยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายหยักซี่ฟันเป็นแฉกเล็ก ๆ ซีกล่างกางออก ยาว ๓-๔ มม. กว้างและยาวกว่าซีกบน มี ๓ แฉก แฉกกลางรูปกลมหรือรูปกลมแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. แฉกด้านข้างรูปไข่ถึงรูปกลม ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย อับเรณูอยู่ชิดกันเป็นคู่ใต้แฉกกลีบดอกซีกบน มีขนาดเท่ากันและกางออกจากกันมาก โคนเป็นติ่งหนาม มีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนสั้นนุ่ม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม หยักเป็นพูตื้น ๆ ๒ พู

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปไข่เบี้ยว แบนข้างกว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายเรียวแหลมมีขนสั้นนุ่ม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีจำนวนมาก

 ช่อศิลามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นปะปนตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ บริเวณที่เปิดโล่งบนสันเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๒๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อศิลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Phtheirospermum parishii Hook. f.
ชื่อสกุล
Phtheirospermum
คำระบุชนิด
parishii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
คำหิน (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์