ช่อมรกต

Curcuma harmandii Gagnep.

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น รูปไข่ เนื้อในสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลืองอ่อน กลีบปากมีแถบสีเหลืองตรงกลางและอาจขนาบด้วยแถบสีชมพูบานเย็น ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงเกือบกลม มีใบประดับและใบประดับย่อยติดทน เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

ช่อมรกตเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้น รูปไข่ เนื้อในสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อนลำต้นเทียมเหนือดินสูง ๓๕-๖๐ ซม. กาบใบที่ไม่มีใบยาว ๑๑-๑๕ ซม. เกลี้ยง รากฝอยค่อนข้างสั้น มีรากสะสมอาหารเป็นหัวค่อนข้างกลม

 ใบเดี่ยว มี ๔-๖ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีกว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๑๕-๒๘ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบสั้นถึงไร้ก้าน ลิ้นใบแยกเป็น ๒ แฉก รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างและยาว ๑-๒ มม. บางและเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ปลายลำต้นเหนือดิน รูปรีหรือรูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๑๒ ซม. ตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑๕ ซม. มีใบประดับ ๖-๑๕ ใบ เรียงเวียนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ดอกทยอยบาน ใบประดับรูปใบหอกหรือรูปเรือ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายเรียวแหลมใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ แต่ขนาดเล็กกว่า กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายผายออก แยกเป็นแฉกด้านเดียว ยาวประมาณ ๔ มม. กลีบดอกสีขาวนวลถึงสีเหลืองอ่อนโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกรูปรีถึงรูปไข่ กว้างประมาณ ๖.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายมนและคุ่ม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๑ เกสร ยาวประมาณ ๘ มม. อับเรณูสีขาวนวล ก้านชูอับเรณูเป็นแผ่นเกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๕ เกสรเป็นหมันและเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางเกิดจากเกสรเพศผู้ ๓ เกสร เรียกกลีบปาก สีขาว กลางกลีบมีแถบสีเหลืองตรงกลางและอาจขนาบด้วยแถบสีชมพูบานเย็น กลีบปากรูปช้อนหรือรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปลายยื่นและแยกเป็นแฉกสั้นอีก ๒ แฉกติดอยู่ข้างกลีบปากข้างละแฉก เรียกแฉกคู่ข้าง เกิดจากเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันแฉกละ ๑ เกสร แฉกคู่ข้างรูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ทรงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. มี ๓ ช่องแต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียสีขาว เป็นแอ่งคล้ายรูปถ้วย กว้างประมาณ ๑ มม. ที่ปลายขอบมีขนเรียงอยู่รอบ ก้านยอดเกสรเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์ลดรูปหรือไม่มี

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงเกือบกลม มีใบประดับและใบประดับย่อยติดทน เมล็ดสีน้ำตาลอ่อนมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว

 ช่อมรกตมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลาง พบตามป่าดิบแล้งผสมป่าผลัดใบที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ มีการนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ของลูกผสม ได้ลูกผสมเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้ปลูกประดับแปลง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อมรกต
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma harmandii Gagnep.
ชื่อสกุล
Curcuma
คำระบุชนิด
harmandii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1866-1952)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ