ช่อฉัตร

Primula caulifera C. M. Hu

ไม้ล้มลุกสองปี ลำต้นยาว ตั้งตรงหรือทอดเอน สีออกแดง มีขนยาวประปราย ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อฉัตร คล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ยอด ดอกสีชมพู ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ช่อฉัตรเป็นไม้ล้มลุกสองปี ลำต้นยาว ตั้งตรงหรือทอดเอน สูง ๑๔-๒๗ ซม. สีออกแดง มีขนยาวประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน และมักเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกใกล้ยอด รูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายมน โคนหยักเว้าตื้นรูปหัวใจ ขอบจักซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ แผ่นใบทั้ง ๒ ด้านมีขนยาวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น ก้านใบยาว ๔-๖ ซม. มีขนยาวสีขาว

 ช่อดอกแบบช่อฉัตร คล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ยอดซ้อนกัน ๓-๔ ชั้น แต่ละชั้นมี ๕-๑๐ ดอก ก้านช่อยา ๗.๕-๑๕ ซม. มีขนยาวประปราย ก้านดอกยาว ๑-๑.๔ ซม. เกลี้ยง ใบประดับรูปแถบ ยาว ๔-๖ มม. เกลี้ยง มีการติดของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียต่างกัน มีทั้งที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียยาวและอยู่สูงกว่าเกสรเพศผู้ และที่มีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น และอยู่ต่ำกว่าเกสรเพศผู้ กลีบเลี้ยงสีขาว ยาวประมาณ ๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ มีนวล กลีบดอกสีชมพู โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔.๕ มม. เกลี้ยงปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปลิ่ม กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแฉกเว้าตื้น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมมี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๓ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ช่อฉัตรเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออก พบตามชายทุ่งหญ้า ป่าดิบแล้งบนภูเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช่อฉัตร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Primula caulifera C. M. Hu
ชื่อสกุล
Primula
คำระบุชนิด
caulifera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hu, Chi Ming
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1935-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน