ชุมเห็ดไทย

Senna tora (L.) Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ชุมเห็ดเขาควาย, ชุมเห็ดควาย, ชุมเห็ดนา, ชุมเห็ดเล็ก (กลาง); พรมดาน, ลับมืน, ลับมืนน้อย, เล็บมืน (เหน
ไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม ทุกส่วนมีกลิ่นเหม็นเขียว ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย ๖ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักกลมยาวหรือรูปเคียว เมล็ดแบน รูปทรงสี่เหลี่ยม มี ๒๐-๓๐ เมล็ด

ชุมเห็ดไทยเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่ม สูง ๐.๓-๑.๒ ม. ทุกส่วนมีกลิ่นเหม็นเขียว เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๒-๕ ซม. ด้านบนเป็นร่อง ที่แกนกลางใบประกอบระหว่างใบย่อย ๒ คู่ล่าง มีต่อม ๒ ต่อม รูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. ก้านใบประกอบยาว ๑-๔ ซม. มีใบย่อย ๖ ใบ เรียงตรงข้าม คู่ล่างเล็กกว่าคู่ถัดไปตามลำดับ ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๓-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕ ซม. ปลายมน โคนมนหรือเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ


ด้านล่างมีนวล เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๒ มม. มีขนนุ่ม หูใบรูปลิ่มแคบยาว ๑-๒ ซม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มี ๑-๓ ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๘ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม. และขยายยาวขึ้นเมื่อเป็นฝัก ใบประดับเรียวแหลม ยาว ๒-๔ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้าง ๒-๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลมกลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายมน



มีก้านกลีบดอกสั้น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากันขนาดใกล้เคียงกัน ๗ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เรียวยาวและโค้งงอ มีขนนุ่มหนาแน่น มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียปลายตัด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักกลมยาวหรือรูปเคียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. เมื่ออ่อนฝักโค้ง มีขนละเอียด ก้านฝักยาว ๑-๑.๕ ซม. เมล็ดแบน สีน้ำตาลเป็นมันรูปทรงสี่เหลี่ยม มี ๒๐-๓๐ เมล็ด

 ชุมเห็ดไทยเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามที่รกร้าง ที่ชุ่มชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. เป็นวัชพืชในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วไป ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี

 ประโยชน์ ทั้งต้นมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ เป็นไกลโคไซด์ประเภทแอนทราควิโนน


เช่น เรอิน เซนโนไซด์ คริโซฟานอล สารเคมีเหล่านี่จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ นิยมนำใบและเมล็ดมาทำเป็นยาต้มกินเป็นยาถ่าย ใช้เป็นยาภายนอกทาแก้กลากเกลื้อน เมล็ดคั่วชงน้ำกินทำให้นอนหลับและเป็นยาขับปัสสาวะ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชุมเห็ดไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Senna tora (L.) Roxb.
ชื่อสกุล
Senna
คำระบุชนิด
tora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Roxburgh, William (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ชุมเห็ดเขาควาย, ชุมเห็ดควาย, ชุมเห็ดนา, ชุมเห็ดเล็ก (กลาง); พรมดาน, ลับมืน, ลับมืนน้อย, เล็บมืน (เหน
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย