ชุมเห็ดเทศ

Senna alata (L.) Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
ขี้คาก, ลับมืนหลวง, เล็บมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ (เหนือ); ชุมเห็ดใหญ่ (กลาง)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมีขนอ่อนนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อย ๑๔-๔๘ ใบ เรียงตรงข้ามรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองสด ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักสีดำ แบน ตรง เมล็ดแบน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูมีประมาณ ๕๐ เมล็ด

ชุมเห็ดเทศเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. อาจสูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนอ่อนนุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางยาว ๓๐-๖๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๒-๖ ซม. มีใบย่อย ๑๔-๔๘ ใบ เรียงตรงข้าม ใบคู่ล่างเล็กสุดและค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นไปตามลำดับ ห่างจากคู่ที่ ๒ มากกว่าคู่อื่น ๆ ที่อยู่ถัดขึ้นไป ใบย่อยรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๙ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้น มีติ่งหนามเล็ก ๆ โคนมนและเบี้ยว ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๖-๙ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๒๐-๕๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๒๐ ซม. ใบประดับสีเหลืองหรือสีส้ม


รูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. คลุมดอกตูมและร่วงเมื่อดอกบาน ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๑-๒ ซม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยกลีบดอกสีเหลืองสด ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้างถึงรูปช้อน กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๓.๒ ซม. ปลายมนก้านกลีบดอกสั้น เกสรเพศผู้ ๙-๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากัน แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูใหญ่ ยาวประมาณ ๔ มม. มีอับเรณูยาวประมาณ ๑.๓ ซม. กลุ่มที่ ๒ มี ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูยาว ๔-๕ มม. กลุ่มที่ ๓ มี ๓-๔ เกสร เป็นหมัน ก้านเกสรเพศเมียเรียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เรียวยาวและโค้งงอ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นติ่งเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักสีดำแบน ตรง กว้าง ๑.๓-๒ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีครีบ ๔ ครีบ ครีบกว้างประมาณ ๕ มม. ฝักแก่แตกตามรอยประสาน เมล็ดแบน สีดำ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีประมาณ ๕๐ เมล็ด

 ชุมเห็ดเทศเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ที่รกร้าง ที่ชื้นแฉะ ริมคูคลอง และในท้องนา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อน ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี

 ประโยชน์ เป็นไม้ประดับและพืชสมุนไพร ทั้งต้นมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญ เป็นไกลโคไซด์ ประเภทแอนทราควิโนน (anthraquinone) เช่น เรอิน (rhein) เซนโนไซด์ (sennoside) คริโซฟานอล (chrysophanol) สารเคมีเหล่านี่จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ จึงนำมาใช้เป็นยาถ่าย โดยนิยมใช้ใบและดอกทำเป็นยาต้มหรือยาชง นอกจากนี่ใบสดนำมาบดผสมกับน้ำปูนใสใช้ทาแก้กลากเกลื้อนและโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้ด้วย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชุมเห็ดเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Senna alata (L.) Roxb.
ชื่อสกุล
Senna
คำระบุชนิด
alata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Roxburgh, William (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้คาก, ลับมืนหลวง, เล็บมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ (เหนือ); ชุมเห็ดใหญ่ (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย