ชิ้งขาว

Ficus fistulosa Reinw. ex Blume var. fistulosa

ชื่ออื่น ๆ
จิ้งขาว, ชิ้งบ้าน(นครศรีธรรมราช); ชิ้ง, เดือย (ตรัง); มะเดื่อปล้อง (ตราด)
ไม้ต้น ผิวมักล่อนง่าย ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรืออาจเรียงเกือบตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปรีดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือตามแขนงสั้นจากกิ่งหรือลำต้น ช่อดอกเป็นกระเปาะ ปลายมีช่องเปิด ดอกสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ สุกสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีแดง ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชิ้งขาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๑๘ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ผิวมักล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก กิ่งเกลี้ยงหรือมีขนแนบกับผิวสีขาวหรือสีน้ำตาล มีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ตามกิ่งมักมีต่อมผิวมันขนาดเล็กใกล้โคนก้านใบทั้ง ๒ ข้าง กิ่งอ่อนกลวงหรืออาจพบตันได้บ้าง หักง่าย ทุกส่วนมียาง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรืออาจเรียงเกือบตรงข้ามรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้าง ๓-๙ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๑๗ ซม. ยาว ๘-๒๒ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๓๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม มนกลม หรือเว้ารูปหัวใจขอบเรียบหรือหยักซี่ฟัน แผ่นใบค่อนข้างหนาหรือบาง


อาจเบี้ยวเล็กน้อย ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างสีจางกว่าและมีผลึกหินปูนที่ซอกของเส้นแขนงใบกับเส้นกลางใบไม่มีต่อมผิวมันขนาดเล็ก หรือบางซอกมีแต่เห็นไม่ชัด เส้นกลางใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือทางด้านล่างเส้นกลางใบมีขนแนบกับผิวประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น พบน้อยที่มีได้ถึง ๑๓ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีขน ผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ร่วงง่าย เกลี้ยงหรือมีขนแนบกับผิว

 ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเป็นกลุ่มตามซอกใบหรือตามแขนงสั้นจากกิ่งหรือลำต้น แขนงเหล่านี่ยาวไม่เกิน ๒.๕ ซม. ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงเกือบกลม


ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๑-๒ ซม. โคนกระเปาะคอดเรียวคล้ายก้าน ยาว ๐.๑-๑ ซม. มีสันเล็กตามยาวหรืออาจเห็นไม่ชัด ค่อนข้างเกลี้ยงผิวล่อนง่ายเป็นเกล็ดบางขนาดเล็ก ปลายกระเปาะมีช่องเปิดกว้าง ๑.๕-๓ มม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๕ ซม. ใบประดับ ๓ ใบ ยาว ๐.๕-๑ มม. ติดเป็นวงรอบโคนก้านช่อดอก ดอกมีจำนวนมากและมีขนาดเล็กมากอยู่ค่อนข้างหนาแน่นภายในโพรงฐานช่อดอก แต่ละดอกมีกลีบรวมสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑ เกสร ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปปากแตรเล็ก

 ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่กลับ หรือทรงคล้ายรูปชมพู่ กว้าง ๑-๒.๕ ซม. สุกสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว หรือสีแดงค่อนข้างเกลี้ยง ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชิ้งขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าโปร่ง ตามริมลำธาร ป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ผลอ่อนกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิ้งขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus fistulosa Reinw. ex Blume var. fistulosa
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
fistulosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reinwardt, Caspar Georg Carl
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. fistulosa
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- -
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reinwardt, Caspar Georg Carl (1773-1854)
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
จิ้งขาว, ชิ้งบ้าน(นครศรีธรรมราช); ชิ้ง, เดือย (ตรัง); มะเดื่อปล้อง (ตราด)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์