ชิงชี่ใบแหลม

Capparis acutifolia Sweet

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น มีหนามตรงหรืออาจไม่มีหนาม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ ปลายเป็นติ่งยาวดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถวเหนือซอกใบ สีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม ผนังผลบาง เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปทรงรี เปลือกเรียบ

ชิงชี่ใบแหลมเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑.๕-๔ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง มีหนามตรง ยาว ๒-๓ มม. หรืออาจไม่มีหนาม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๙ ซม. ปลายเรียวแหลมเป็นติ่งยาวได้ถึง ๑ ซม. โคนแหลมหรือสอบแคบเป็นรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายเส้นโค้ง ก้านใบยาว ๔-๘ มม.

 ดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถวเหนือซอกใบ ก้านดอกยาว ๑.๓-๒ ซม. กลีบเลี้ยงมี ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ คู่ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนสั้นหนานุ่ม ขอบมีขนครุย กลีบคู่นอกรูปคล้ายเรือกลีบคู่ในค่อนข้างแบน กลีบดอกสีขาว มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. โคนกลีบคู่บนเชื่อมติดกัน ส่วนโคนกลีบคู่ล่างไม่ติดกัน มีขนสั้นหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน ขอบมีขนครุย เกสรเพศผู้จำนวนมากก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย อับเรณูติดด้านหลังมี ๒ ช่อง แตกตามยาว หันเข้าหาแกนดอก ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๐.๗-๒.๒ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปรายที่โคน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไม่มี ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มกลม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ผนังผลบาง เกลี้ยงก้านผลยาว ๓-๔ ซม. เมล็ดสีน้ำตาลดำ รูปทรงรี กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. เปลือกเรียบ

 ชิงชี่ใบแหลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นผลประมาณเดือนมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงชี่ใบแหลม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Capparis acutifolia Sweet
ชื่อสกุล
Capparis
คำระบุชนิด
acutifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Sweet, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1783-1835)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต