ชิงชี่

Capparis micracantha DC.

ชื่ออื่น ๆ
กระดาดขาว, กระโรกใหญ่, จิงโจ้, พญาจอมปลวก, แสมซอ (กลาง); กระดาดป่า, ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์); ค้อนฆ้อง (
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งก้านคดไปมา มีหนามค่อนข้างแข็ง ส่วนยอดมีเกล็ดหุ้มยอด ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ อาจพบรูปกลมบ้าง ปลายมีติ่งหนามแข็ง ดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถวเหนือซอกใบ สีขาว เมื่ออ่อนตรงกลางสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีม่วงเข้ม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม สุกสีแดง เมล็ดรูปไต มีจำนวนมาก

 ชิงชี่เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นสูง ๑-๖ ม. กิ่งก้านคดไปมา เกลี้ยง มีหนามเรียวแหลม ค่อนข้างแข็ง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายโค้งขึ้น ส่วนยอดมีเกล็ดหุ้มยอด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ อาจพบรูปกลมบ้าง กว้าง ๔-๑๐.๕ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายมนกลม แหลม หรือเว้าตื้นเล็กน้อยมีติ่งหนามแข็ง โคนมน แหลม หรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม

 ดอกเดี่ยว มีได้ถึง ๗ ดอก ออกเรียงเป็นแถวเหนือซอกใบ บานกระจะ ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เรียงเป็น ๒ คู่ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. ค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ขอบมีขนครุย กลีบคู่นอกรูปคล้ายเรือ กลีบคู่ในค่อนข้างแบน กลีบดอกสีขาวเมื่ออ่อนตรงกลางสีเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มสีน้ำตาล หรือสีม่วงเข้ม มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบบาง ปลายมนหรือกลม มีเส้นกลีบเห็นชัด โคนของกลีบคู่บนเชื่อมติดกัน ส่วนโคนของกลีบคู่ล่างไม่ติดกันมีขนสั้นหนานุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้จำนวนมากก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย อับเรณูติดด้านหลัง มี ๒ ช่อง แตกตามยาว หันเข้าหาแกนดอก ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๓ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มกลม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือค่อนข้างกลม กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๗ ซม. ผนังผลหนา แข็ง ก้านผลกว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๓.๕-๔ ซม.


ผลสุกสีแดง เมล็ดรูปไต กว้าง ๕-๖ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. มีจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดกินได้

 ชิงชี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบชื้น ป่าผลัดใบผสม ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ เขาหินปูนใกล้ทะเล ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน หมู่เกาะอันดามัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ใช้เป็นพืชสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงชี่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Capparis micracantha DC.
ชื่อสกุล
Capparis
คำระบุชนิด
micracantha
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
กระดาดขาว, กระโรกใหญ่, จิงโจ้, พญาจอมปลวก, แสมซอ (กลาง); กระดาดป่า, ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์); ค้อนฆ้อง (
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต