ชิงชัน

Dalbergia oliveri Gamble ex Prain

ชื่ออื่น ๆ
กระซิบ, กะซิก, ประดู่สับ, หมากพลูตั๊กแตน (ใต้); กำพี้ต้น, ดู่สะแดน, ดู่ลาย, พะยูงแดง, พะยูงหิน, อัญช
ไม้ต้น เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นแว่นหรือเป็นแผ่นขนาดเล็ก ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยมี ๑๑-๒๗ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วง สีม่วงเข้ม หรือสีม่วงอมชมพู ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปทรงรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก เมล็ดรูปคล้ายไตสีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม มี ๑-๓ เมล็ด

ชิงชันเป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๕ ม. เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นแว่นหรือเป็นแผ่นขนาดเล็ก เปลือกชั้นในสีเหลือง กิ่งอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ใบย่อยมี ๑๑-๒๗ ใบ เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปรี กว้าง ๑.๒-๒.๔ ซม. ยาว ๓-๕.๗ ซม. ปลายมน เว้าเล็กน้อยหรือแหลมโคนสอบหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๑๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ มม. มีขนสั้นประปราย หูใบขนาดเล็กมาก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว ๘-๑๗ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว ก้านดอกยาว ๐.๑-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง สีเขียวนวล สีเขียวอ่อน หรือสีม่วงแดง ยาว ๔-๕ มม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลาย


แยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ สีม่วง สีม่วงเข้มหรือสีม่วงอมชมพู กลีบกลางรูปกลม กว้างและยาว ๖-๘.๕ มม. มีจุดประด้านใน ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. กลีบคู่ข้างรูปรี กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๖-๘.๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๒ มม. กลีบคู่ล่างเชื่อมติดกันเป็นรูปเรือ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. ก้านกลีบยาวประมาณ ๗ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ เกสร ยาว ๖-๘ มม. ก้านรังไข่มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปใบหอกแกมรูปแถบกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขน

มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นกระเปาะ

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักแบน รูปทรงรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๗-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม. เกลี้ยง ก้านผลยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. เมล็ดรูปคล้ายไต สีน้ำตาลแดงถึงสีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒๕ ซม. มี ๑-๓ เมล็ด

 ชิงชันมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือพื้นที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๓๕๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามเครื่องมือ และเครื่องใช้ต่าง ๆ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชิงชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia oliveri Gamble ex Prain
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
oliveri
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gamble, James Sykes
- Prain, David
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gamble, James Sykes (1847-1925)
- Prain, David (1857-1944)
ชื่ออื่น ๆ
กระซิบ, กะซิก, ประดู่สับ, หมากพลูตั๊กแตน (ใต้); กำพี้ต้น, ดู่สะแดน, ดู่ลาย, พะยูงแดง, พะยูงหิน, อัญช
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวสุคนธ์ทิพย์ ศิริมงคล