ชำมะเลียง

Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.

ชื่ออื่น ๆ
โคมเรียง (ตะวันออกเฉียงใต้, ใต้); ชะมะเลียงบ้าน, ชำมะเลียงบ้าน (กลาง); พุมเรียง (ใต้), พุมเรียงสวน (
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลหรือสีเทาเงิน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงเวียน มีหูใบเทียม ใบย่อย ๓-๑๗ ใบ พบน้อยที่มีได้ถึง ๒๙ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเรียงสลับ รูปไข่รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก ใบที่ปลายบางครั้งลดรูปและมีขนาดเล็กลงมาก ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามกิ่ง ตามลำต้น ตามซอกใบ และที่ปลายกิ่ง ดอกสีม่วงแดง หายากที่มีสีขาว ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี สุกสีแดงเข้มถึงสีน้ำเงินดำ เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมหรือกึ่งทรงรูปไข่ มี ๒ เมล็ด สีดำอมน้ำตาล

 ชำมะเลียงเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นสูง ได้ถึง ๑๕ ม. แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบ สีน้ำตาลหรือสีเทาเงินหรือมีช่องอากาศ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๒๕ ซม. ถึงประมาณ ๑ ม. ก้านใบรูปทรงกระบอกหรือแบน ยาว ๐.๕-๓.๒ ซม. มีเส้นใบรูปฝ่ามือ



ใบย่อย ๓-๑๗ ใบ พบน้อยที่มีได้ถึง ๒๙ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเรียงสลับ รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๑๒ ซม. ยาว ๙-๔๐ ซม. ใบที่ปลายบางครั้งลดรูปและมีขนาดเล็กลงมาก ปลายมนหรือเรียวแหลม โคนกึ่งเว้ารูปหัวใจหรือแหลม ส่วนมากสอบเรียว โคนใบอาจเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ค่อนข้างเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ไม่มีตุ่มใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบย่อยสั้นมาก หูใบเทียม ๑ คู่ รูปไข่ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปค่อนข้างกลม บางครั้งเบี้ยว กว้าง ๑-๑๐ ซม. ยาว ๒-๑๐ ซม. ปลายมนถึงมนกว้าง

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามกิ่ง ตามลำต้น ตามซอกใบ และที่ปลายกิ่ง ช่อดอกมักแยกแขนง ยาวได้ถึง ๗๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. ก้านดอกเรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. ดอกสีม่วงแดง หายากที่มีสีขาว สมมาตรตามรัศมี ไม่มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีม่วงแดง มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม รูปกลม รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๒-๔ มม. กลีบวงนอก ๒ กลีบ มีขนาดเล็กกว่ากลีบวงใน กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๓ มม. ก้านกลีบสั้น มีเกล็ดขนาดเล็กเป็นสัน ๑ หรือ ๒ เกล็ด มีขนครุยจานฐานดอกแบน รูปวงแหวนหรือรูปคล้ายเกือกม้า เกสรเพศผู้ ๕-๘ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก มีขนอับเรณูสีเหลืองหรือสีขาว ยาว ๑.๒-๒.๒ มม. เกลี้ยงหรือมีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เรียบ เกลี้ยงหรือมีขนมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียไม่แยกเป็นพู

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๑-๓ ซม. หนา ๐.๕-๒ ซม. ปลายบุ๋มตื้น เปลือกผลบาง ผิวเกลี้ยง ผลสดฉ่ำน้ำผลอ่อนสีขาว มีพูเห็นชัดเมื่อแก่ สุกสีแดงเข้มถึงสีน้ำเงินดำ ก้านผลยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. เมล็ดส่วนมากมี ๒ เมล็ด สีดำอมน้ำตาล รูปทรงค่อนข้างกลมหรือกึ่งทรงรี แบนด้านข้าง กว้าง ๐.๖-๑.๘ ซม. ยาว ๐.๘-๒.๓ ซม. หนา ๐.๔-๑.๘ ซม.

 ชำมะเลียงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้พบขึ้นตามชายป่าดิบ ตามสันเขา ใกล้แหล่งน้ำ ที่โล่งแจ้งที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้แข็ง ทนทาน และหนัก ใช้ในการก่อสร้าง รากใช้เป็นยา ผลรับประทานได้ ใบอ่อนใช้เป็นผักสด.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชำมะเลียง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh.
ชื่อสกุล
Lepisanthes
คำระบุชนิด
fruticosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Leenhouts, Pieter Willem
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Leenhouts, Pieter Willem (1926-2004)
ชื่ออื่น ๆ
โคมเรียง (ตะวันออกเฉียงใต้, ใต้); ชะมะเลียงบ้าน, ชำมะเลียงบ้าน (กลาง); พุมเรียง (ใต้), พุมเรียงสวน (
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา