ชำมะนาดเล็ก

Vallaris solanacea (Roth) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ฟูมฟูม, อู่มฟูม (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หญ้าช้างน้อย, หญ้าช้างย้อย, หางเม่นเครือ (เหนือ);
ไม้รอเลื้อย ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบดอกสีขาว สีนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวแกมเขียว รูปแตร ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปกระสวยเมล็ดรูปทรงรี มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลาย

ชำมะนาดเล็กเป็นไม้รอเลื้อย ทุกส่วนมียางสีขาว ตามกิ่งก้านมีช่องอากาศ กิ่งแขนงเกลี้ยงหรือมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๐.๘-๖ ซม. ยาว ๒-๑๕ ซม. ปลายใบส่วนใหญ่เรียวแหลม หรืออาจพบบ้างที่ปลายเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนรูปลิ่ม


แผ่นใบสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ก้านใบยาว ๐.๓-๒ ซม. ต่อมที่ซอกโคนก้านใบรูปเรียวยาว

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ทั้งช่อยาว ๒.๕-๑๐.๒ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๓.๕ ซม. แกนช่อมีขนทั่วไป ใบประดับรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๔-๘ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมก้านดอกยาว ๐.๘-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปแถบ กว้าง ๐.๙-๓ มม. ยาว ๒.๓-๗ มม. ปลายแหลม มักจะตั้งขึ้น มีขน กลีบดอกสีขาว สีนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีขาวแกมเขียว ดอกตูมรูปไข่ แฉกกลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวา ดอกบานรูปแตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๒ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๐.๖-๑ ซม. พองออกที่บริเวณกึ่งกลาง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กลับถึงรูปไข่ กว้าง ๓.๕-๗ มม. ยาว ๐.๒๘-๑ ซม. ปลายมนกลม ด้านนอกมีขน ยกเว้นกิ่งและช่อดอกบริเวณใกล้โคนแฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดที่ผนังด้านในของหลอดกลีบดอกบริเวณที่หลอดพองออก ก้านชูอับเรณูอวบหนา ยาว ๑.๒-๒.๖ มม. มีขนจำนวนมาก ที่ปลายด้านนอกตรงบริเวณรอยต่อระหว่างก้านชูอับเรณูกับอับเรณูมีต่อมรูปค่อนข้างกลม สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๖ มม. อับเรณูรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๐.๖-๐.๙ มม. ยาว ๒.๑-๓.๔ มม. โคนรูปหัวลูกศร โค้งเล็กน้อย ยาว ๐.๖-๑ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม อับเรณูโค้งมาชิดกันเป็นรูปโดมคลุมยอดเกสรเพศเมียจานฐานดอกมี ๕ แฉก ล้อมรอบและสูงใกล้เคียงกับรังไข่ เกลี้ยงหรือมีขนประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบยาว ๐.๘-๑ มม. มีขน มี ๒ รังไข่ โคนเชื่อมติดกันส่วนที่เหนือขึ้นไปแยกจากกันเป็นอิสระ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียยาว ๖-๖.๗ มม. มีขน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปรี

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปกระสวยปลายแหลม กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๘-๑๔ ซม. ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก รูปทรงรี กว้าง ๓.๕-๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสีขาวเป็นพู่ที่ปลาย ยาว ๓-๔ ซม.

 ชำมะนาดเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคกลางพบขึ้นตามป่าละเมาะหรือป่าทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๕๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายน มักไม่ติดผล ในต่างประเทศพบที่อินเดียปากีสถาน จนถึงเกาะไหหลำ และทางตอนใต้ของเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชำมะนาดเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vallaris solanacea (Roth) Kuntze
ชื่อสกุล
Vallaris
คำระบุชนิด
solanacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roth, Albrecht Wilhelm
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roth, Albrecht Wilhelm (1757-1834)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
ฟูมฟูม, อู่มฟูม (ตะวันออกเฉียงเหนือ), หญ้าช้างน้อย, หญ้าช้างย้อย, หางเม่นเครือ (เหนือ);
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อรุณรัตน์ คิดอยู่ และ รศ. ดร.มานิต คิดอยู่