ชาหม่อง

Paraboea birmanica (Craib) C. Puglisi

ไม้ล้มลุกหลายปี แตกกิ่งสั้น ๆ ตามซอกใบและโคนลำต้นช่วงล่าง ทุกส่วนของลำต้นมีขนสีขาวนวลคล้ายใยแมงมุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวหรือช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ บิดเป็นเกลียวห่างมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายกระสวย มีจำนวนมาก

ชาหม่องเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๑๐-๕๐ ซม. ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งสั้น ๆ ตามซอกใบและโคนลำต้นช่วงล่าง โคนต้นใหญ่หรือเป็นแขนงใหญ่แทรกอยู่ในซอกหินและมีรากแผ่ตามแผ่นหิน ทุกส่วนของลำต้นมีขนสีขาวนวลคล้ายใยแมงมุม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มี ๒-๕ คู่ ใบล่างแห้งเหี่ยวหรือหลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบ ใบรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๒-๖ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังมีขนคล้ายใยแมงมุมบาง ๆ ทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๘ ซม. มีขนคล้ายใยแมงมุม ใบล่างมีขนาดใหญ่และก้านใบยาวกว่าใบบน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวหรือช่อกระจุก ด้านเดียวเชิงประกอบ มี ๓-๑๐ ช่อ ออกตามซอกใบแต่ละช่อมีดอก ๓-๖ คู่ ก้านช่อดอกยาว ๓-๙ ซม. แกนกลางยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ช่อที่อยู่ด้านล่างสั้นกว่าด้านบน ใบประดับคล้ายใบที่ลดรูป รูปเกือบกลมกว้างและยาวประมาณ ๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ยาว ๓-๖ มม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๓ แฉก อยู่ชิดกันและแนบติดอยู่ด้านบนบริเวณโคนหลอด กลีบดอก ซีกล่าง ๒ แฉกอยู่แยกกัน แฉกรูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๕-๘ มม.


ปลายแหลม กลีบดอกสีขาว คล้ายรูประฆังเบี้ยว ปากกว้างโคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมนกลม เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณู

ค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๒ มม. สีขาว บิดงอตรงกลาง อับเรณูสีเหลือง ยาว ๒.๕-๓ มม. ปลายเชื่อมติดกันเล็กน้อย เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก ลักษณะคล้ายก้านชูอับเรณู ขนาดเล็ก สั้น สีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายกรวยคว่ำ ยาวประมาณ ๖ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวประมาณ ๕ มม. สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๑-๑.๔ ซม. ปลายเรียว บิดเป็นเกลียวห่าง สีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน ก้านช่อผลสีน้ำตาลแดงเข้ม เมล็ดขนาดเล็ก รูปคล้ายกระสวย มีจำนวนมาก

 ชาหม่องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามซอกหินปูนและหน้าผาหินปูนบริเวณป่าผลัดใบและป่าสนเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๙๐๐-๒,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาหม่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea birmanica (Craib) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
birmanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ