ชาฤๅษีเชียงดาว

Paraboea chiangdaoensis Z. R. Xu et B. L. Burtt

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปขอบขนาน โคนสอบเรียวคล้ายปีกแคบ ส่วนล่างสุดอาจเชื่อมหุ้มข้อไปถึงโคนใบที่อยู่ตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว มีจำนวนมาก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบเมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีเชียงดาวเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูง ๗-๑๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. ปล้องยาว ๑-๓ ซม. ส่วนล่างค่อนข้างแข็งมีขนต่อมทั่วไป รากเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม.ปลายแหลม โคนสอบเรียวคล้ายปีกแคบ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ส่วนล่างสุดอาจเชื่อมหุ้มข้อไปถึงโคนใบที่อยู่ตรงข้าม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเหี่ยวง่าย ด้านบนมีขนต่อมสั้น ด้านล่างมีขนคล้ายขนแกะประปรายโดยเฉพาะตามเส้นใบ เส้นแขนงใบส่วนที่เป็นแผ่นใบมีข้างละ ๕-๙ เส้น ส่วนโคนใบที่สอบแคบมีอีกข้างละประมาณ ๑๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบเห็นไม่ชัดหรือไร้ก้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๒๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. แกนช่อยาวประมาณ ๑๐ ซม. ใบประดับคล้ายใบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๔.๖ ซม. ยาวประมาณ ๘ ซม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบ


ขนาดเล็กและสั้น ก้านดอกยาว ๑.๕-๒.๘ ซม. มีขนต่อมสีม่วงอ่อนทั่วไป กลีบเลี้ยงรูปดาว สีเขียว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบแคบหรือรูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบดอกรูปวงล้อ สีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นแผ่น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แผ่ออกแฉกรูปเกือบกลม รูปไข่ รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้างและยาว ๔-๖ มม. ปลายแหลม มนกลม หรือเว้าตื้นเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน ส่วนปลายของแต่ละอับเชื่อมติดกันก้านชูอับเรณูเป็นข้องอ สีขาว เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรลดรูปเหลือเพียงก้านชูอับเรณู หรือเป็นติ่งสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียวอมเหลืองอ่อนกว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวอมม่วงอ่อน ยาวประมาณ ๑.๒ ซม.ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก คล้ายรูปหัวใจ สีม่วงอ่อน มีขนต่อมสั้นทั่วไป

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เกือบเกลี้ยง เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลเรียว ยาว ๑-๓ ซม. มีขนต่อมขนาดเล็กประปราย เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีเชียงดาวเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามหน้าผาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูงจากระดับทะเล ๘๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษีเชียงดาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea chiangdaoensis Z. R. Xu et B. L. Burtt
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
chiangdaoensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Xu, Zhao Ran
- Burtt, Brian Laurence
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Xu, Zhao Ran (1957-)
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ