ชาฤๅษีน้อย

Paraboea nana Triboun et Dongkumfu

ไม้ล้มลุกหลายปีกึ่งไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากห่าง ๆ รูปไข่หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว ออกใกล้ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกมักออกเป็นคู่ สีขาวอมชมพูสีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมม่วง ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวหนาแน่นผลแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก

ชาฤๅษีน้อยเป็นไม้ล้มลุกหลายปีกึ่งไม้พุ่ม สูง ๑๐-๒๕ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเอน กิ่งเรียวเปราะบาง และมีนวล รากเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากห่าง ๆ มี ๘-๑๔ ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑.๔-๒.๔ ซม. ยาว ๓-๕.๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบค่อนข้างหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนา เหี่ยวง่าย ด้านบนสีเขียว มีขนหลายเซลล์สั้น ๆ หนาแน่น ด้านล่างมีขนคล้ายขนแกะสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น โดยเฉพาะตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๑.๓ ซม. สีน้ำตาลขอบแผ่ออกคล้ายปีกเชื่อมกับปีกของก้านใบที่อยู่ตรงข้าม ด้านบนของก้านใบเป็นร่องแคบ ๆ ขนาดเล็กตามแนวยาวไปยังปีกของก้านใบที่อยู่ตรงข้าม มีขนต่อมหลายเซลล์ขนาดเล็กกระจายห่าง ๆ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว มี ๑-๒ ช่อ ออกใกล้ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอดดอกมักออกเป็นคู่ สีขาวอมชมพู สีชมพูอ่อน หรือสีขาวแกมม่วง มีค่อนข้างน้อย ก้านช่อดอกยาว ๑๔-๒๐ ซม. แกนช่อยาว ๑-๑๕ ซม. ใบประดับรูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สีน้ำตาลอมแดง มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบ ขนาดเล็กและสั้น ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. กลีบเลี้ยงรูปถ้วย กว้าง ๕-๖ มม. สีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนคล้ายใยแมงมุม โคนกลีบ


เชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายมนโคนแฉกซ้อนเหลื่อมกัน แฉกบน ๓ แฉก โคนเชื่อมติดกันเป็นแอ่ง แฉกรูปไข่หรือรูปไข่กลับกว้าง กว้าง ๕-๕.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. แฉกล่าง ๒ แฉก แยกเป็นอิสระ รูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. กลีบดอก

คล้ายรูประฆัง โคนเชื่อมติดกัน ๘-๙ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แผ่ออก แฉกรูปเกือบกลมหรือรูปไข่กว้างกว้าง ๔.๕-๗ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน โคนแฉกซ้อนเหลื่อมกัน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร อับเรณูสีเหลือง กว้างและยาว ๒-๓ มม. ส่วนปลายของแต่ละอับเชื่อมติดกัน ก้านชูอับเรณูเป็นข้องอค่อนข้างสั้น ยาวประมาณ ๓ มม. สีขาว เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็นหมัน และลดรูปเป็นติ่งสั้น ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอกรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงเกือบกลม ยาวประมาณ ๒ มม. สีเขียว มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวยาวประมาณ ๓.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ ยาว ๑-๑.๔ ซม.มีขนคล้ายใยแมงมุมสีขาวหนาแน่น ผลแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน ก้านผลยาวประมาณ ๔ ซม. เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีน้อยเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามหน้าผาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูงจากระดับทะเล ๗๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนเป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษีน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea nana Triboun et Dongkumfu
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
nana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote
- Dongkumfu, W.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote (fl. 2002)
- Dongkumfu, W. (fl. 2012)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ