ชาฤๅษีตะรุเตา

Paraboea tarutaoensis Z. R. Xu et B. L. Burtt

ไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม ลำต้นค่อนข้างฉ่ำน้ำ มีขนรูปดาวสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบค่อนข้างสั้น ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีนวลหรือสีชมพูอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เรียวยาว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีตะรุเตาเป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม สูง ๑๐-๓๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้นประมาณ ๓ มม. ลำต้นค่อนข้างฉ่ำน้ำ ปลายกิ่งเปราะ แตกหักง่าย ตามลำต้นมีขนรูปดาวสีน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดมี ๓-๖ คู่ เรียงค่อนข้างถี่ ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบ ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนานกว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวเล็กน้อย ขอบจักฟันเลื่อยซ้อนและมีขนครุย แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขนรูปดาวสีน้ำตาลกระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบเส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๔ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบค่อนข้างสั้น มี ๒-๔ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกเรียวเล็ก ยาวประมาณ ๕.๕ ซม.


มีขนต่อมหลายเซลล์ค่อนข้างหนาแน่น มีดอกน้อย ก้านดอกยาว ๑.๔-๒.๒ ซม. มีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่น ใบประดับรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแหลม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันน้อยกว่า ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแคบกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแหลม มีขนต่อมหลายเซลล์ค่อนข้างหนาแน่นกลีบดอกสีนวลหรือสีชมพูอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูรูปคล้ายกระบอง ยาว ๓-๔ มม. สีเขียวอมเหลือง ตรงกลางโป่งและโค้งเล็กน้อย อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาล กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๒ เกสรเป็นหมัน จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปขอบขนาน ยาว ๒-๒.๕ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยาวประมาณ ๖ มม. สีเขียวอ่อน ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปหัวใจ สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เรียวยาวกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ ซม. เกลี้ยงมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีตะรุเตาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบขึ้นตามเขาหินปูนในที่ร่มรำไร ตามเกาะในฝั่งทะเลอันดามันที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม.ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษีตะรุเตา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea tarutaoensis Z. R. Xu et B. L. Burtt
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
tarutaoensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Xu, Zhao Ran
- Burtt, Brian Laurence
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Xu, Zhao Ran (1957-)
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ