ชามดอย

Hedyotis fulva Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ก้านแข็ง (เชียงใหม่); ยอทอง (เลย); หญ้ากระต่าย (นครพนม)
ไม้ล้มลุก ต้นตั้งตรงหรือโน้มเอนทอดเลื้อย กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนยาว เมื่อแก่สันเหลี่ยมค่อนข้างมนใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปไข่ แผ่นใบทั้ง ๒ ด้านมีขนสาก หูใบระหว่างก้านใบเป็นกาบกว้างคล้ายรูปถ้วย ขอบเป็นแฉก ปลายแฉกคล้ายขนแข็ง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกมีขนสั้นหรือขนสาก ดอกเล็ก สีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมมีขนสาก มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก มีเหลี่ยม

ชามดอยเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑๕-๘๐ ซม. ต้นตั้งตรงหรือโน้มเอนทอดเลื้อย ลำต้นสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนยาว เมื่อแก่สันเหลี่ยมค่อนข้างมน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๒-๒ ซม. ยาว ๐.๗-๕.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า ทั้ง ๒ ด้านมีขนสากและมักมีขนยาวหรืออาจไม่มี เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เห็นชัดเจน ทั้งเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน นูนทางด้านล่างก้านใบยาว ๑-๕ มม. หรือไร้ก้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นกาบกว้างคล้ายรูปถ้วย ขอบเป็นแฉก ปลายแฉกคล้ายขนแข็ง ขนาดไม่เท่ากัน มี ๓-๑๑ แฉก แฉกยาวเด่นชัด ๓ แฉก แฉกกลางยาวที่สุด

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบก้านช่อดอกยาว ๐.๓-๒ ซม. มีขนสั้นหรือขนสากดอกเล็ก สีขาว ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาว ๐.๕-๐.๘ มม. ปลายแหลมมีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในตั้งแต่บริเวณกลางหลอดถึงปากหลอดมีขนสีขาว ปากหลอดผายออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกแฉกมีขนที่ปลายและตามขอบเกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๐.๒-๐.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสาก มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยาว ๐.๕-๐.๗ มม. มีขน ปลายแยก ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียแบน ยาว ๐.๓-๐.๕ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม. มีขนสาก มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก มีเหลี่ยม มี ๑-๔ เมล็ด

 ชามดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางพบตามที่โล่ง ทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชามดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hedyotis fulva Hook. f.
ชื่อสกุล
Hedyotis
คำระบุชนิด
fulva
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ก้านแข็ง (เชียงใหม่); ยอทอง (เลย); หญ้ากระต่าย (นครพนม)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์