ชาพ่อตาฤๅษี

Middletonia monticola (Triboun et D. J. Middleton) C. Puglisi

ไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้กึ่งพุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดเรียงถี่ รูปไข่กลับ รูปใบหอกกลับ รูปไข่ หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดหรือที่ปลายยอด ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มโคนผล เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชาพ่อตาฤๅษีเป็นไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้กึ่งพุ่ม อาจแตกกิ่ง ๒-๖ กิ่ง สูง ๑๐-๓๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางกิ่งและลำต้นประมาณ ๔ มม. เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ปลายกิ่งค่อนข้างเรียวยาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดมี ๓-๗ คู่ เรียงถี่ รูปไข่กลับ รูปใบหอกกลับ รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๐.๕ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว รูปลิ่มหรือมนกลมขอบหยักซี่ฟันหรือหยักมน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีรอยย่น ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นและมีขุยเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๗ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๑-๒ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดหรือที่ปลายยอด แตกแขนง ๒-๔ ชั้น ก้านช่อดอกเล็กเรียว ยาว ๑-๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. มีขุย ก้านดอกเล็กเรียว ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขุย ใบประดับลดรูป หรือมีรูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๑-๓.๕ มม.ปลายแหลม ใบประดับที่อยู่ใกล้ปลายช่อมีขนาดเล็กลงอย่างชัดเจน กลีบเลี้ยงสีเขียวอมน้ำตาล มีขุย โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน กลีบดอก


สีขาวหรือสีขาวนวล โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๖.๕ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายแฉกมน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสรโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปแถบ

ยาว ประมาณ ๒.๕ มม. สีขาว ตรงกลางโค้ง อับเรณูสีเหลือง กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร ลดรูป ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ มม. สีเขียวอ่อน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒.๕ มม. สีขาวยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม สีขาว ปลายสุดสีเขียว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ผลแก่บิดเป็นเกลียวเกลี้ยงหรือมีขุย มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มโคนผล เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาพ่อตาฤๅษีเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามผาหินปูนในที่ร่มรำไร บริเวณป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาพ่อตาฤๅษี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Middletonia monticola (Triboun et D. J. Middleton) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Middletonia
คำระบุชนิด
monticola
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote
- Middleton, David John
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote (fl. 2002)
- Middleton, David John (1963-)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเอกรัตน์ ธนูทอง