ชาญี่ปุ่น

Camellia japonica L.

ชื่ออื่น ๆ
ชากุหลาบแดง, แต้อั้งฮวย, แต้ฮวย (เหนือ)
ไม้พุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา ตายอดและตาข้างรูปไข่ ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยว พบน้อยมากที่เป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งสีแดง สีแดงเข้ม สีชมพูอมแดง หรือสีขาว แตกต่างตามพันธุ์ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมผลอ่อนมักมีใบประดับและกลีบเลี้ยงติดทน ผลสุกสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลเข้ม

 ชาญี่ปุ่นเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. ทรงพุ่มแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งสีน้ำตาลเข้ม เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง ตายอดและตาข้างรูปไข่ ยาว ๕-๘ มม. ประกอบด้วยกาบขนาดเล็กโค้งหุ้มซ้อนกัน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยถี่และเล็กแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า มักมีต่อมโปร่งใสสีน้ำตาล เส้นกลางใบนูนเด่นชัด เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น

 ดอกเดี่ยว พบน้อยมากที่เป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ออกที่ยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเมื่อบานมีขนาดใหญ่ กว้าง ๕-๑๐ ซม. สีแดง สีแดงเข้มสีชมพูอมแดง หรือสีขาว แตกต่างตามพันธุ์ ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับ ๔ ใบ รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑-๒ ซม. กลีบดอก ๕-๗ กลีบ หรือมีจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายกลีบเว้าตื้นหรือเว้าเป็นติ่งแหลม ในดอกที่มีกลีบซ้อนจำนวนมากโคนกลีบชั้นในสุด ๕ กลีบ มักเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมาก สีขาวหรือสีนวล ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. โคนก้านมักเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. และโคนหลอดของก้านชูอับเรณูมักเชื่อมติดกับหลอดกลีบดอก อับเรณูสีเหลือง ติดแบบไหวได้ รูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๔ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ ซม. ผลอ่อนมักมีใบประดับและกลีบเลี้ยงติดทน ผลสุกสีแดง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๒ ซม. สีน้ำตาลเข้ม

 ชาญี่ปุ่นเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาญี่ปุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Camellia japonica L.
ชื่อสกุล
Camellia
คำระบุชนิด
japonica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ชากุหลาบแดง, แต้อั้งฮวย, แต้ฮวย (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์