ชาข่อย

Acalypha siamensis Oliv. ex Gage

ชื่ออื่น ๆ
กาน้ำ, ชาญวน (กรุงเทพฯ); จ๊าข่อย (เหนือ); ชาป่า (ปัตตานี); ชาฤาษี (กลาง); ผักดุก, ผักดูด (ประจวบคีรี
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อหรือบางครั้งต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ตอนบนเป็นดอกเพศผู้ ตอนล่างใกล้โคนช่อเป็นดอกเพศเมียหรือบางครั้งเป็นดอกเพศผู้ทั้งช่อ บางครั้งดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเล็ก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวใส ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศเมียมีใบประดับรูปคล้ายถ้วย เมื่อกางออกรูปคล้ายไต ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู มี ๒-๓ พู สีเขียว รูปทรงกลมแป้น มีหนามทู่ และมีใบประดับติดทน เมล็ดสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง ทรงรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม มี ๒-๓ เมล็ด

 ชาข่อยเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๓ ม. เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว กิ่งเล็กเรียว กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๑-๕ ซม. ยาว ๒-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมนหรือหยักซี่ฟันแกมหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบยาว ๑-๘ มม. ด้านบนเป็นร่องตื้นตามยาว มีขนสั้นนุ่ม หูใบร่วงง่าย รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๒-๒.๕ มม. มีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อม

 ดอกแยกเพศร่วมต้นร่วมช่อหรือบางครั้งต่างช่อ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ยาว ๑.๕-๓.๖ ซม. ส่วนมากเป็นช่อดอกแยกเพศร่วมช่อ ตอนบนเป็นดอกเพศผู้ ตอนล่างใกล้โคนช่อเป็นดอกเพศเมียหรือบางครั้งเป็นดอกเพศผู้ทั้งช่อ บางครั้งดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้น แกนช่อมีขนประปราย ก้านดอกสั้นมาก ยาว ๐.๑-๐.๕ มม. มีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง ดอกเล็ก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวใส ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้ออกเป็นกลุ่ม ๆ จำนวนมาก กลุ่มละ ๕-๗ ดอก มีใบประดับรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๑.๒-๑.๕ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มและมีขนต่อม ดอกตูมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๐.๘ มม. ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑ มม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวใส มี ๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านนอกมีตุ่มเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๘ เกสร อับเรณูบิดหรือคดไปมา โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกจากกัน ดอกเพศเมียมีใบประดับรูปคล้ายถ้วย เมื่อกางออกรูปคล้ายไต กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๕-๗ มม. ขอบหยักซี่ฟัน มี ๙-๑๕ ซี่ ผิวเกลี้ยงเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน มีจุดโปร่งแสง เส้นบนใบประดับแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านนอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน มี ๓ กลีบ รูปไข่กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ผิวมีหนามทู่ ปลายหนามเป็นต่อม รังไข่มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน แยกจากกันหรือโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียรวมกันยาว ๒-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นเส้นคล้ายเส้นด้ายหลายเส้น

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู มี ๒-๓ พู สีเขียวรูปทรงกลมแป้น กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีใบประดับติดทน มีหนามทู่ ปลายหนามเป็นต่อม ต่อมร่วงเมื่อผลแก่ เมล็ดสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดงทรงรูปไข่หรือรูปค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. ผิวมีตุ่มเล็ก ๆ มี ๒-๓ เมล็ด

 ชาข่อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามเขาหินปูนในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปีในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาะสุมาตรา

 ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับหรือปลูกเป็นแนวรั้ว มีรายงานการใช้เป็นพืชสมุนไพร ใช้ใบสดต้มหรือใบแห้งใช้ชงแทนใบชา กินเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยย่อย แก้น้ำเหลืองเสีย ไตพิการ และขับปัสสาวะ ทั้งต้นตำเป็นยาพอกร่างกายใช้ลดไข้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาข่อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acalypha siamensis Oliv. ex Gage
ชื่อสกุล
Acalypha
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Oliver, Daniel
- Gage, Andrew Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Oliver, Daniel (1830-1916)
- Gage, Andrew Thomas (1871-1945)
ชื่ออื่น ๆ
กาน้ำ, ชาญวน (กรุงเทพฯ); จ๊าข่อย (เหนือ); ชาป่า (ปัตตานี); ชาฤาษี (กลาง); ผักดุก, ผักดูด (ประจวบคีรี
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย