ชากอบแกบ

Paraboea glabriflora (Barnett) B. L. Burtt

ไม้ล้มลุกหลายปี ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ด้านบนเรียงถี่คล้ายกระจุกกุหลาบซ้อน แผ่นใบรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีชมพูมีจำนวนมาก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชากอบแกบเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสูงประมาณ ๗ ซม. รากเป็นกระจุกฝอย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ด้านบนเรียงถี่คล้ายกระจุกกุหลาบซ้อน แผ่นใบรูปขอบขนานกว้าง ๓.๒-๕ ซม. ยาว ๔.๕-๘ ซม. ปลายมนกลมโคนรูปลิ่มหรือมน ส่วนล่างสุดอาจเชื่อมหุ้มข้อไปถึงโคนใบที่อยู่ตรงข้าม ขอบหยักมน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวอมเทาอ่อน มีขนสีขาวประปราย ด้านล่างสีน้ำตาลอมเหลืองหม่น มีขนคล้ายขนแกะค่อนข้างหนาแน่นโดยเฉพาะตามเส้นใบเส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓.๓-๗ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกเรียวเล็ก ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ใบประดับคล้ายใบขนาดเล็ก รูปรีแคบ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกแคบ มีขนาดเล็กและสั้น ก้านดอกเรียวยาวประมาณ ๒ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงรูปคล้ายดาวสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบแคบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายมน กลีบดอกสีชมพู โคนเชื่อมติดกันประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก รูปไข่กว้าง กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมนหรือเว้าตื้น ซีกล่าง ๓ แฉก รูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่กว้าง แฉกข้าง ๒ แฉก กว้างและยาว ๐.๕-๑ มม. แฉกกลางกว้างและยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร อับเรณูรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. สีขาว เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมันและลดรูปเหลือเพียงก้านชูอับเรณูหรือเป็นติ่งสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวยาวประมาณ ๔.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปแถบสั้น

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. เกลี้ยง เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปกระสวย ขนาดเล็กมีจำนวนมาก

 ชากอบแกบเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามหน้าผาหินปูนที่ชื้นและค่อนข้างร่ม ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชากอบแกบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea glabriflora (Barnett) B. L. Burtt
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
glabriflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan
- Burtt, Brian Laurence
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Barnett, Euphemia Cowan (1890-1970)
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ