ชันภู่

Hopea recopei Pierre ex Laness.

ชื่ออื่น ๆ
ชันถุ (ตะวันออกเฉียงใต้); พันจำใบใหญ่ (ตราด); ลองคืน (จันทบุรี)
ไม้ต้น โคนต้นมีพูพอนแบนและกว้าง เปลือกเรียบและมีรอยควั่นโดยรอบจนถึงแตกเป็นร่องตื้นตามยาวสีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีออกชมพู มีชันสีขาว กิ่งอ่อนและยอดมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ก้านใบบวมพองชัดเจน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่โคนผลมีปีก ๕ ปีก แบ่งเป็นปีกยาว ๒ ปีก รูปช้อน มีเส้นปีก ๘-๑๐ เส้น ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่ ยาวน้อยกว่าผล ผลอ่อนโคนปีกสีเขียวอ่อน ปลายปีกแต้มสีแดง มี ๑ เมล็ด

ชันภู่เป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๕ ม. ลำต้นเปลาตรงโคนต้นมีพูพอนแบนและกว้าง เปลือกเรียบและมีรอยควั่นโดยรอบจนถึงแตกเป็นร่องตื้นตามยาว สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีออกชมพู มีชันสีขาว กิ่งอ่อนและยอดมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๕.๕-๘ ซม. ยาว ๑๒-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มและมักไม่สมมาตร ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบอาจมีขนเล็กน้อย ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีต่อมสีแดงขนาดเล็กมากกระจายทั่วไป เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งเรียว เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดห่างก้านใบบวมพองชัดเจน ยาว ๑-๑.๕ ซม. เกลี้ยงถึงเกือบเกลี้ยง หูใบรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๐.๕ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๒ ซม. ค่อนข้างเกลี้ยง ดอกสีขาว ดอกตูมทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. เกือบเกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายจักเป็นริ้ว เกือบเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับหรือแกมรูปเคียวกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนาน เกลี้ยง กว้าง ๐.๒-๐.๕ มม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวอับเรณู เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ปลายตัดและมีรอยบุ๋ม มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นแท่งตรง ค่อนข้างยาวมากกว่ารังไข่ ยอดเกสรเพศเมียมีขนครุย

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว ทรงรูปไข่ ยาว ๐.๗-๑ ซม. เกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม โคนผลมีปีก ๕ ปีก เจริญมาจากกลีบเลี้ยง แบ่งเป็นปีกยาว ๒ ปีก รูปช้อน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๘-๙ ซม. ปลายมนถึงแหลม โคนปีกสอบเรียวและโคนสุด คล้ายถุงหุ้มผล มีเส้นปีก ๘-๑๐ เส้น ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่ ปลายแหลม ยาวน้อยกว่าผล ก้านผลยาวประมาณ ๑ มม. ผลอ่อนโคนปีกสีเขียวอ่อน ปลายปีกแต้มสีแดงผลแก่แห้ง ปีกสีน้ำตาล มี ๑ เมล็ด

 ชันภู่เป็นพรรณไม้ที่ค่อนข้างหายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้มักพบขึ้นประปรายตามที่ราบเชิงเขาหรือหุบเขาในป่าดิบชื้นหรือป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงธันวาคมผลแก่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชันภู่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hopea recopei Pierre ex Laness.
ชื่อสกุล
Hopea
คำระบุชนิด
recopei
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
- Lanessan, Jean Marie Antoine de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
- Lanessan, Jean Marie Antoine de (1843-1919)
ชื่ออื่น ๆ
ชันถุ (ตะวันออกเฉียงใต้); พันจำใบใหญ่ (ตราด); ลองคืน (จันทบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์