ชะเอม

Myriopteron extensum (Wight et Arn.) K. Schum.

ชื่ออื่น ๆ
กอน (แม่ฮ่องสอน); ขมเหลือง, ข้าวสาร (เชียงใหม่); เครือเขาขมหลวง (กลาง); เถาชะเอมไทย (กรุงเทพฯ, ราชบุ
ไม้เถา ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ตามข้อมีแผ่นเนื้อเยื่อคล้ายหูใบสีเขียวอยู่ระหว่างก้านใบ หูใบรูปคล้ายไต ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ เป็นช่อโปร่งและมักยาวกว่าใบ ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีนวลรูปวงล้อ ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ รูปทรงกระบอกกว้าง ปลายเรียว มีครีบถี่ตามยาวจำนวนมาก เมล็ดจำนวนมาก ทรงรูปไข่ ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

 ชะเอมเป็นไม้เถา ยาวได้ถึง ๑๐ ม. ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ต้นและกิ่งเรียว แต่แข็งและเหนียว เกลี้ยง ตามข้อมีแผ่นเนื้อเยื่อคล้ายหูใบสีเขียวอยู่ระหว่างก้านใบ กิ่งแก่มีช่องอากาศ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ รูปเกือบกลมหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๑๒ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายแหลมถึงกึ่งยาวคล้ายหาง ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนมน มนกลม หรือรูปลิ่ม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนมีขนยาวประปราย ด้านล่างมีขนละเอียดนุ่มเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น นูนทางด้านล่างก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. หูใบรูปคล้ายไตอยู่ทางด้านข้างของโคนก้านใบ กว้าง ๔-๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก แยกแขนง ๒-๓ ครั้ง ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ เป็นช่อโปร่งและมักยาวกว่าใบ ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อเรียว ยาว ๕-๑๐ ซม.


ช่อแขนงออกตรงข้าม ก้านดอกเรียวเล็กเป็นเส้น ยาว ๐.๖-๑ ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว ประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายมน ด้านนอกมีขนตามแนวยาวกลางแฉกด้านในมีต่อมระหว่างโคนแฉก กลีบดอกสีเขียวอ่อนหรือสีนวล รูปวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ดอกตูมรูปไข่ แฉกกลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวา รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายตัดหรือมน มีหยักหรือเว้าตื้น มักบิดและโค้งลง รยางค์เส้าเกสร ๕ อัน แต่ละอันเรียว ยาวประมาณ ๒ มม. เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก โคนเชื่อมติดที่โคนของก้านเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมกันเป็นเส้าเกสร สูงประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นวง ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นก้านสั้น อับเรณูรูปไข่ ปลายมีเยื่อเป็นแผ่นบางกลุ่มเรณูจำนวนมากอยู่บนแผ่นใสสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่ ปลายแยกลึก โคนสอบเป็นก้านตื้น ๆ โคนก้านเป็นปุ่มเหนียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒ รังไข่ แยกเป็นอิสระ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นและเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มแป้น ปลายสุดมีติ่งแหลมมน

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ รูปทรงกระบอกกว้าง ปลายเรียว กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๖-๗ ซม. มีครีบถี่ตามยาวจำนวนมากอาจถึง ๒๐ ครีบ ครีบเป็นแผ่นบางค่อนข้างใส เมล็ดจำนวนมาก ทรงรูปไข่ ด้านหนึ่งเว้าและมีสันยาวตามแนวกลาง อีกด้านหนึ่งโค้งนูน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาว ๒-๒.๕ ซม.

 ชะเอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามชายป่าดิบ ป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ผลอ่อนใช้เป็นผัก เมื่อทำให้สุกมีรสหวาน ในประเทศจีนใช้รากเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับปอดและแก้ไอ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะเอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Myriopteron extensum (Wight et Arn.) K. Schum.
ชื่อสกุล
Myriopteron
คำระบุชนิด
extensum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
- Arnott, George Arnott Walker
- Schumann, Karl Moritz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert (1796-1872)
- Arnott, George Arnott Walker (1799-1868)
- Schumann, Karl Moritz (1851-1904)
ชื่ออื่น ๆ
กอน (แม่ฮ่องสอน); ขมเหลือง, ข้าวสาร (เชียงใหม่); เครือเขาขมหลวง (กลาง); เถาชะเอมไทย (กรุงเทพฯ, ราชบุ
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง