ชะเนียง

Archidendron jiringa (Jack) I. C. Nielsen

ชื่ออื่น ๆ
ขางแดง (กลาง); เนียง, เนียงนก, พะเนียง (ใต้)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน มีต่อมอยู่เหนือโคนก้านใบและอยู่ระหว่างแขนงใบประกอบ ใบย่อย ๔-๖ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบที่อยู่ตอนบนของกิ่งหรือออกตามรอยแผลใบบนกิ่งแก่ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยเชื่อมด้านบน แบนข้าง รูปเคียวหรือหยักคอดระหว่างเมล็ด เมล็ดมีหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม โค้งนูน ๒ ด้าน

ชะเนียงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๐-๙๐ ซม. กิ่งรูปคล้ายทรงกระบอก มีสันเป็นครีบจากรอยแผลใบ เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๒-๗ ซม. เกลี้ยง มีต่อมไร้ก้าน รูปกึ่งทรงกลมถึงกลมแบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. อยู่เหนือโคนก้านใบประมาณ ๕ มม. และอยู่ระหว่างแขนงใบประกอบ หูใบร่วงง่าย แขนงใบประกอบมี ๑ คู่ ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. มีต่อมไร้ก้าน รูปกลมแบนเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. อยู่ระหว่างโคนก้านใบย่อยหรืออาจไม่มี ก้านแขนงใบประกอบยาว ๒.๕-๑๑ ซม. แกนกลางแขนงใบประกอบยาว ๒-๑๒ ซม. ใบย่อย ๔-๖ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๘-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม ปลายสุดทู่ โคนรูปลิ่มกว้างถึงมนกลม อาจเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบย่อยยาว ๔-๗ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบที่อยู่ตอนบนของกิ่งหรือออกตามรอยแผลใบบนกิ่งแก่ ช่อยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๓ มม. แต่ละช่อย่อยมีดอก ๔-๗ ดอก ไร้ก้าน ใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรีปลายแหลม ยาว ๐.๕-๑ มม. มีขนละเอียด ดอกสีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังถึงรูปถ้วย ยาว ๑-๒ มม. ปลายหยักแหลม ๕ หยัก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๐.๓ มม. มีขนประปราย เรียงจดกันในดอกตูม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๔-๕ มม. เกลี้ยงปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลมโค้งพับลง เห็นเส้นกลีบดอกชัดเจน มีขนประปรายถึงเกลี้ยง เรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ ๐.๘-๑ ซม. ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวเท่ากับความยาวของหลอดกลีบดอก อับเรณูเกลี้ยง ก้านรังไข่ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวคล้ายเส้นด้ายยาว ๖-๗ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายจาน

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยเชื่อมด้านบนแบนข้าง รูปเคียวหรือหยักคอดระหว่างเมล็ด กว้างได้ถึง ๕ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. เปลือกแข็ง สีเทาถึงสีน้ำตาลเข้มหรือสีม่วงเข้ม ด้านในสีเทา เกลี้ยง เมล็ดมีหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม โค้งนูน ๒ ด้าน ขนาดใหญ่เต็มฝัก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๘-๓.๕ ซม. หนา ๑-๑.๕ ซม. เปลือกเมล็ดชั้นนอกบาง สีน้ำตาลเข้ม มีก้าน

 ชะเนียงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ เมียนมา คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะชวาและเกาะบอร์เนียว

 ประโยชน์ ใช้เป็นอาหารและสมุนไพร ทางภาคใต้นิยมนำเมล็ดและเมล็ดที่เพาะจนงอกและมีรากมารับประทานสดจิ้มน้ำพริก แกล้มกับแกงเผ็ด ขนมจีนเป็นต้น นอกจากนี่ยังรับประทานเป็นขนมโดยต้มคลุกกับมะพร้าวใส่น้ำตาล เมล็ดทำให้สุกรับประทานได้โดยการต้ม ๒-๓ ครั้ง สามารถทำลายกรดเจนกอลิก (djenkolic acid) ซึ่งเป็นพิษกับไต.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะเนียง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Archidendron jiringa (Jack) I. C. Nielsen
ชื่อสกุล
Archidendron
คำระบุชนิด
jiringa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
- Nielsen, Ivan Christian
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William (1795-1822)
- Nielsen, Ivan Christian (1946-2007)
ชื่ออื่น ๆ
ขางแดง (กลาง); เนียง, เนียงนก, พะเนียง (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์