ชะรักป่า

Rotheca serrata (L.) Steane et Mabb.

ชื่ออื่น ๆ
แข้งม้า (เชียงราย); ควิโด, ตือซือซาฉ้อง, เตอสีพ่ะดู่, ยาแก้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); คุ้ยโดโจ (กะเหรี
ไม้พุ่ม กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓ ใบ หรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนานรูปใบหอก รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวแกมม่วงกลีบดอกรูปปากเปิด ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกลมแกมรูปทรงรี ผิวเป็นมันวาวผลสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดทรงรูปไข่ รูปทรงรี หรือรูปขอบขนาน ผิวขรุขระ มี ๒-๔ เมล็ด

ชะรักป่าเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๕ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น กิ่งแก่เกือบเกลี้ยง มีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ ๓ ใบ หรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปใบหอกรูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๑๒ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือปลายมนมีติ่งแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงถึงมีขนสีน้ำตาลหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีเกล็ดแบบก้นปิดประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๒ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ไร้ก้านใบหรือมีก้านใบยาวได้ถึง ๓.๕ ซม. อวบหนา มีขนสีน้ำตาลประปรายถึงหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งยาว ๑๒-๔๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๑๐ ซม. เป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านดอกอวบหนา ยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ใบประดับรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๓ ซม. ยาว ๐.๕-๗ ซม. ใบประดับย่อยรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปใบหอก หรือรูปแถบ กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. ทั้งใบประดับและใบประดับย่อยมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น ดอกสีขาวแกมม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ยาว ๓-๘ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่นบริเวณปลายหลอด ด้านในมีต่อม ปลายหลอดตัดหรือแยกเป็นแฉกเล็ก ๆ ๕ แฉก ไม่ชัดเจน แฉกมักยาวน้อยกว่า ๐.๗ มม. กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. อวบหนา ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย ด้านในมีขนยาวสีขาวหนาแน่น ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปไข่กลับกว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ปลายแฉกมนกลางกลีบด้านนอกมีขน แฉกข้างด้านละ ๒ แฉก แผ่กางออก สีขาวอมม่วง แฉกล่างสุด ๑ แฉก


สีน้ำเงิน ขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่นเล็กน้อย โค้งเป็นแอ่งเกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก โผล่พ้นหลอดดอก ชูตั้งขึ้น ปลายโค้งชี้ไปด้านหน้า แยกเป็น ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูสีขาว คู่ยาวยาว ๑.๕-๔ ซม. คู่สั้นยาว ๑.๒-๓.๕ ซม. โคนก้านชูอับเรณูทั้งหมดบริเวณที่ติดกับหลอดกลีบดอกมีขนยาวนุ่มสีขาว อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ยาว ๑-๒.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมหรือรูปทรงกลมแกมรูปไข่ ยาว ๑.๕-๔ มม. มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว สีขาว ยาว ๒-๓.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉกไม่เท่ากัน

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกลมแกมรูปทรงรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผิวเป็นมันวาว ผลสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดทรงรูปไข่ รูปทรงรี หรือรูปขอบขนาน ยาว ๕-๖ มม. ผิวขรุขระ มี ๒-๔ เมล็ด

 ชะรักป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาตะวันออก อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา จีนภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ มีสรรพคุณด้านสมุนไพรโดยเกือบทุกส่วนของพืชชนิดนี่ ใช้ได้ทั้งเป็นยาภายนอกและภายใน รักษากลากเกลื้อน แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้ปวดหัว แก้เสียดท้อง อาการคลื่นเหียนรักษาโรคริดสีดวงทวาร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะรักป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rotheca serrata (L.) Steane et Mabb.
ชื่อสกุล
Rotheca
คำระบุชนิด
serrata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Steane, Dorothy A.
- Mabberley, David John
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Steane, Dorothy A. (fl. 1998)
- Mabberley, David John (1948-)
ชื่ออื่น ๆ
แข้งม้า (เชียงราย); ควิโด, ตือซือซาฉ้อง, เตอสีพ่ะดู่, ยาแก้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); คุ้ยโดโจ (กะเหรี
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี