ชะมวงกวาง

Ploiarium alternifolium Melch.

ชื่ออื่น ๆ
ม่วงกวาง, ส้มกวาง, สรรพคุณ (ใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมชมพูมีจุดประสีแดงตามปลายกลีบ ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกรวยคว่ำ มีพูตามยาว มียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปขอบขนานแคบ มีจำนวนมาก

ชะมวงกวางเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๑๐ ม. เส้นรอบวง ๑๐-๖๐ ซม. เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา มีรอยแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบสีน้ำตาลแดง เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ตามปลายกิ่ง รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๔.๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียวไปสู่ก้านใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน และเป็นสันนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๑ เส้น ปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห สังเกตเห็นได้ทางด้านบน ใบแห้งสีน้ำตาลแกมสีชมพูเรื่อ ก้านใบสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อมี ๑-๓ ดอก พบน้อยที่มี ๗ ดอก ก้านช่อยาว ๒-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. โคนก้านมีใบประดับรูปใบหอกหรือรูปใบหอกกลับ ๒ ใบ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. เรียงซ้อนเหลื่อม ปลายกลีบแผ่กว้าง โคนกลีบงุ้มเข้าและสอบเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสั้นสีเทา ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวอมชมพู เรียงบิดเวียนไปทางขวา กลีบกว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคน


กลีบเบี้ยว ส่วนปลายกลีบสอบเล็กน้อย ปลายสุดมีจุดประสีแดง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูโคนเชื่อมติดกันเป็น ๕ กลุ่ม ล้อมรอบโคนรังไข่ อับเรณูติดที่ฐาน ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เชื่อมติดกันคล้ายรูปไข่มีพูตามยาว ๕ พู กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยง มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๕ แฉก เรียวแหลมคล้ายหนาม โค้งเล็กน้อย

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกรวยคว่ำ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีพูตามยาว ผลแยกจากโคนสู่ปลาย มียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปขอบขนานแคบ ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชะมวงกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำและป่าพรุที่สูงใกล้ระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะมวงกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ploiarium alternifolium Melch.
ชื่อสกุล
Ploiarium
คำระบุชนิด
alternifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Melchior, Hans
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1894-1984)
ชื่ออื่น ๆ
ม่วงกวาง, ส้มกวาง, สรรพคุณ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย